คู่มือ การรักษาพนักงานองค์กร สำหรับผู้นำหลังโควิด

08 มิ.ย. 2565 | 18:58 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 02:17 น.

สลิงชอท แจกคู่มือ การรักษาพนักงาน ฉบับผู้นำหลังโควิด เรียกพนักงานเข้าออฟฟิศ เกิดอาการไม่อยากมา และลาออก เหตุเพราะรายได้เสริม รายได้ดี และคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากโควิดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกในตอนนี้ ทุกคนเริ่มหันมาใช้ชีวิตตามปกติกันมากขึ้น หลายๆ บริษัทเรียกพนักงานกลับมาทำงาน ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารอยากให้พนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศบ้าง ในขณะที่พนักงานจำนวนไม่น้อย คุ้นชินกับการทำงานจากบ้าน ที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาและไม่ต้องเดินทาง

 

เมื่อองค์กรบังคับให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศแม้จะไม่ทุกวัน พนักงานหลายคนตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกไม่ค่อยสะดวก ประกอบกับช่วงโควิด รายได้ไม่พอรายจ่าย หลายคนก็หาอาชีพเสริมซึ่งเริ่มสร้างรายได้มากขึ้น
 


คู่มือการรักษาพนักงานให้พวกเขายังอยากอยู่กับองค์กร 

  1. รู้ว่าพนักงานมีเป้าหมายอะไร : ขั้นตอนแรกในการทำให้พนักงานมีความผูกพันและพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับองค์กร คือการทำความเข้าใจเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาให้ชัดเจน จากนั้นจึงจับคู่เป้าหมายให้เข้ากับความต้องการขององค์กร
  2. แสดงให้พนักงานเห็นถึงโอกาสในการเติบโต : พนักงานส่วนมากจากองค์กรไปเพราะความไม่ชัดเจนของการเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะฉะนั้นผู้นำต้องทำให้พวกเขาเห็นหนทางที่จะก้าวหน้าอย่างน้อยในช่วงเวลา 3 - 5 ปี ว่าพวกเขาจะเป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กรตรงไหนและอย่างไร

 

 

3. ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วม : ผู้นำควรสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถช่วยพัฒนาหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ อย่างเช่นบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อนำไอเดียนั้นไปเข้าแข่งขันในรายการทีวี Shark Tank เพื่อขอเงินทุนสนับสนุนจากสปอนเซอร์ จนในที่สุดความคิดเหล่านั้นก็ประสบผลสำเร็จ ได้เงินทุนหลายล้านบาทมาพัฒนาองค์กร ได้ทั้งผลงาน ได้ทั้งความภาคภูมิใจ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยทีเดียว

 

4. สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ : ผู้นำที่ดีต้องสามารถสร้างผู้นำรุ่นถัดไปขึ้นมาแทนที่ตนเองได้ นั่นหมายถึงการมองหาโอกาสในการส่งเสริมให้พนักงานมีการเรียนรู้และเติบโตอยู่ตลอดเวลา ผ่านการโค้ช (Coaching) การให้คำปรึกษา (Mentoring) การพาไปทำงานด้วย (Job Shadowing) เป็นต้น

 

5. ป้องกันภาวะหมดไฟ : ผู้นำต้องคอยสอดส่องด้วยว่าพนักงานของเรากำลังหมดไฟหรือเปล่า และหาให้เจอว่าสิ่งใดเป็นต้นตอของปัญหา จากนั้นรีบจัดการแก้ไขให้รวดเร็ว เป็นการดับไฟเสียตั้งแต่ต้นลม

 

6. ดูแลค่าตอบแทนและผลประโยชน์ให้ดี : เงินแม้ไม่ใช่ทุกส่ิงทุกอย่าง แต่เงินก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทำงาน หน้าที่ของหัวหน้าคือดูแลความเป็นอยู่ ผลตอบแทน และสวัสดิการให้กับพนักงานให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและผลงานที่มี พนักงานหลายคนตัดสินใจออกจากองค์กรไปไม่ใช่เพราะเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลประโยชน์และการดูแลในเรื่องอื่นๆ ด้วย

 

7. ใส่ใจกับสิ่งที่พนักงานต้องพบเจอ : หน้าที่สำคัญของผู้นำและองค์กรคือการบริหารประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอทุกๆ วันในการทำงาน หากแต่ละวันพนักงานได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ที่ทำให้สนุกและมีความสุข จิตใจก็จะเบิกบาน ผลงานก็ดีตาม ในทางกลับกันหากทุกๆ วันพบเจอแต่ประสบการณ์แย่ๆ บรรยากาศการทำงานที่ไม่สร้างสรรค์ ผลงานก็ไม่ดี พนักงานก็ไม่มีความสุข หัวหน้าจึงต้องคอยสอดส่องประสบการณ์ของพนักงานอยู่เสมอๆ

 

การเก็บรักษาพนักงานที่ใช่ไว้กับองค์กร ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องเริ่มต้นให้ถูกจุด เท่านั้น