ทริคเด็ด! เด็กจบใหม่สมัครงานยังไงให้ HR เรียกสัมภาษณ์

01 มิ.ย. 2565 | 18:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 02:02 น.
2.4 k

JobsDB ติดอาวุธ เสริมความมั่นเด็กจบใหม่ แนะนำทริคสมัครงาน การเขียนเรซูเม่ การเรียกเงินเดือน และรู้เท่าทันกลลวงในตลาดงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกเรียกสัมภาษณ และได้งาน

"ดวงพร พรหมอ่อน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ดีบี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศเพื่อผลักดันและเพิ่มโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจบใหม่สามารถหางานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับบริษัทในฝัน จ๊อบส์ ดีบี จึงจัดทำข้อมูลแนะแนวและนำทางนิสิตนักศึกษาจบใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทุกคนมีประสบการณ์การหางานที่ดีที่สุดและได้งานแรกที่ใช่ที่สุด ด้วยการนำเสนอเคล็บลับดี ๆ เริ่มต้นตั้งแต่การเขียนเรซูเม่ การเรียกเงินเดือน ไปจนถึงการรู้เท่าทันกลลวงในตลาดงาน ที่เชื่อว่าจะช่วยติดอาวุธ เสริมความมั่นใจ และเพิ่มโอกาสการเรียกสัมภาษณ์รวมถึงการจ้างงาน ให้บรรดานิสิตนักศึกษาจบใหม่ ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
 

  • ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยที่ควรใส่ในเรซูเม่

เราควรใส่ประสบการณ์หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานหรือตำแหน่งที่สมัคร เพื่อที่จะให้นายจ้างและฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทนั้น เห็นถึงคุณสมบัติของเราที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัคร โดยเรียงเป็นข้อๆ เป็น bullet point เพื่อให้ HR สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย

นอกจากนี้ หากเคยฝึกงานหรือมีผลงานสู่สาธารณะก็สามารถนำเอาความสำเร็จ หรือสิ่งที่เคยทำมาใส่ไว้ได้ เช่น ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งเขียน code ในมหาวิทยาลัย หรือได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยไปร่วมงานสัมมนาระดับโลก หรือถ้าหากไม่เคยชนะรางวัลอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถระบุคอร์สเรียนออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเราได้ สามารถอ่านข้อมูลการเขียนเรซูเม่ได้ ที่นี่
 

 

  • เด็กจบใหม่ควรเรียกเงินเดือนอย่างไรดี

ควรค้นหาข้อมูลอัตราเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นของสายงานที่สมัคร รวมถึงทำการศึกษาโครงสร้างของบริษัทที่สมัครและอัตราเงินเดือนที่บริษัทเสนอนักศึกษาจบใหม่ เพื่อระบุอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมกับความสามารถและคุณสมบัติโดยรวม โดยระบุเป็นช่วงเงินเดือน

หากมีความสามารถพิเศษหรือประสบการณ์สูงกว่าที่กำหนดไว้ สามารถนำมาเป็นข้อต่อรองเพื่ออัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นได้ด้วย 

 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่

  • กรอกใบสมัครงานอย่างไรให้ได้งาน

อันดับแรกควรศึกษารายละเอียดบริษัทที่เราอยากสมัครงานให้ดีก่อน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการตอบคำถามในใบสมัครงานหรือการเขียน Email Cover Letter  ที่แสดงให้เห็นว่าเราอยากจะทำงานที่นี่จริงๆ พร้อมเตรียมเอกสารที่ทางบริษัทต้องการ อาทิ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, ใบทรานสคริปต์, ใบรับรองการจบการศึกษา, รูปถ่าย ฯลฯ รวมถึงเรซูเม่ เพื่อแนบส่งพร้อมใบสมัคร 

เมื่อกรอกเอกสาร เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับใบสมัครให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยส่วนของการศึกษา, ประวัติการทำงาน, ช่วงเงินเดือนที่ต้องการ, บุคคลอ้างอิง และข้อมูลติดต่อ ควรกรอกให้ชัดเจนครบถ้วน หากเป็นเด็กจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน ให้เปลี่ยนมาใส่รายละเอียดในการฝึกงาน การอบรม หรือกิจกรรมที่เคยทำสมัยเรียนทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เราสมัครแทน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรอกใบสมัครงานอย่างไรให้ได้งาน

 

  • คีย์เวิร์ดทรงพลังในการเขียนเรซูเม่

ควรเลือกใช้คำศัพท์จำพวก Powerful Action verbs ที่ใช้สื่อความหมายถึงศักยภาพการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยควรใช้ร่วมกับการเขียนตัวเลข เปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลที่สามารถแสดงให้เห็นผลงาน และการพัฒนาได้แบบเป็นรูปธรรมกำกับเข้าไป เพื่อเพิ่มความชัดเจนในผลงาน


คำศัพท์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ทักษะใหญ่ ๆ ดังนี้ :

 

  • ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการแก้ปัญหา : Collaborated, Aided, Enabled, Encouraged, Facilitated, Fostered, Inspired, Supported
  • ทักษะความเป็นผู้นำ : Motivated, Supervised, Delegated, Chaired, Established, Initiated, Achieved, Developed, Strengthened
  • ทักษะด้านการสื่อสาร : Advised, Advocated, Clarified, Corresponded, Defined, Gathered, Ignited, Informed, Interpreted, Persuaded, Publicized
  • ทักษะการแก้ปัญหา : Debugged, Diagnosed, Established, Fixed, Rectified, Lessened, Reconciled, Remodeled, Rebuilt, Upgraded, Corrected

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คีย์เวิร์ดทรงพลังในการเขียนเรซูเม่
 

  • เทคนิค หางานอย่างไรไม่ให้โดนหลอก

ในปัจจุบัน มิจฉาชีพมีกลโกงมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งในนั้นคือ การใช้การหางานตามประกาศรับสมัครงานหลอกลวงผู้สมัครงานให้มอบข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต หรือเลขบัญชี หรือให้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมล่วงหน้า ฯลฯ เราจึงควรระมัดระวังและคำนึงเสมอว่าปัจจัยต้องสงสัยเหล่านี้เข้าข่ายบริษัทปลอมและไม่มีอยู่จริง โดยบริษัทปลอมส่วนใหญ่จะติดต่อผู้สมัครมาโดยตรง, ใช้คำพูดที่ไม่เป็นทางการ ใช้อีเมลที่ไม่เป็นทางการ มีการสะกดคำผิดหลายจุด, เรียกเก็บค่าธรรมเนียม, ขอข้อมูลส่วนตัวที่เป็นข้อมูลลับ, เสนอการจ้างงานทันที, เสนออัตราเงินเดือนที่สูงกว่าฐานเงินเดือนเฉลี่ยทั่วไป, ไม่มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น