7 คุณลักษณะ "ผู้นำในดวงใจ" ที่ลูกน้องตามหา

25 มี.ค. 2565 | 19:37 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2565 | 02:49 น.
5.5 k

ผู้นำ มีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้มีบทบาท ที่จะทำให้องค์กรนั้นๆ เป็นสถานที่ที่ใครๆ ก็อยากทำงานด้วย

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่า หลายคนได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นผู้นำเพราะเก่งงานอย่างหาตัวจับยาก แต่บ่อยครั้งที่ไม่ทันได้ตรวจสอบให้ดีว่าคนๆ นั้นมีภาวะผู้นำพร้อมแล้วหรือยัง

 

ต้องอย่าลืมว่าคนเก่งงานอาจจะไม่เก่งคนเสมอไป

วันนี้ขอนำเสนอ “ภาวะผู้นำ 7 แบบ”​ ที่ลูกน้องถวิลหา

 

  • สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา : ผู้นำที่ดีควรสื่อสารอย่างจริงใจ จัดเตรียมช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างสำหรับทีมงานนอกจากนั้นต้องรู้จักสื่อสารให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยใจคอของแต่ละคน

 

  • เป็นผู้ฟังที่ดี : การฟังเป็นทักษะสำคัญของการสื่อสารที่มักถูกมองข้ามไป เมื่อหัวหน้าเปิดใจรับฟัง นอกจากจะได้ข้อมูลดีๆ จากทีมแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการไว้อกไว้ใจ (Turst) ให้เกิดขึ้นในองค์กรอีกด้วย

 

  • ส่งเสริมศักยภาพและเปิดโอกาสในการเติบโต : ผู้นำควรทำความรู้จักกับนิสัยใจคอ บุคลิก ความสนใจ งานอดิเรกจุดแข็ง จุดอ่อน ฯลฯ ของลูกทีมแต่ละคน เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งสิ้น เมื่อเรารู้จักลูกน้องดีพอ ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมให้เติบโตและบรรลุเป้าหมายได้อย่างถูกที่ถูกทาง
  • สอนแต่ไม่ออกคำสั่ง : ภาวะผู้นำไม่ใช่การออกคำสั่งว่าใครต้องทำอะไร แต่หมายถึงการพัฒนาบุคคลนั้นๆ ให้สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และสร้างสำเร็จได้ด้วยตัวเอง

 

  • มีเป้าหมายที่ชัดเจน : เมื่อผู้นำสามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ย่อมช่วยให้ทุกคนรู้ว่าต้องโฟกัสอะไร ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใด เพื่อจะได้บรรลุผลลัพธ์ที่ดีที่สุดบนจุดมุ่งหมายเดียวกัน

 

  •  ติในเชิงสร้างสรรค์ ชมในสิ่งที่ทำได้ดี : โบราณว่า “ติเพื่อก่อ”​ ยังคงเป็นคาถาอมตะสำหรับหัวหน้างานทุกๆ คน การให้ Feedback ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และที่สำคัญต้องปรับแต่งคำพูดให้ “ตรงแต่ไม่แรง” ในทางกลับกันเมื่อทำดีอย่าลืมกล่าวคำชมเชย เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงาน

 

  •  พร้อมเปลี่ยนแปลง : เราไม่สามารถมองเห็นตัวเองได้ตลอดเวลา ฉะนั้นการรับฟังเสียงสะท้อนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจากลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า และนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จงทำตัวเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน

 

อย่าลืมว่า … ความสำเร็จต้องผสมผสานระหว่าง “เก่งงาน​“ กับ “เก่งคน” ให้พอเหมาะพอดีอย่างลงตัว