เจาะพอร์ตบริษัทรับสัมปทาน “เหมืองแร่โพแทช” เชื่อมตระกูลเจ้าสัว

29 มิ.ย. 2565 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 05:27 น.
2.9 k

เจาะพอร์ตบริษัทรับสัมปทาน “เหมืองแร่โพแทช” จังหวัดอุดรธานี มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท หลังจากครม.เคาะโครงการเรียบร้อย เอกชนเตรียมตัวได้รับประทานบัตรจากรัฐ ตรวจโครงสร้างบริษัทพบเชื่อมโยงบริษัทใหญ่ตระกูลเจ้าสัวดัง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด ไฟเขียวโครงการใหญ่ มูลค่าการลงทุนสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท นั่นคือ โครงการ "เหมืองแร่โพแทช" จังหวัดอุดรธานี ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทช ไปเรียบร้อย และยื่นขอประทานบัตร จนนำมาสู่การเสนอครม. เห็นชอบ และกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมออกประทานบัตรให้เอกชน นับเป็นการเริ่มต้นการทำเหมืองอย่างเป็นทางการ

 

สำหรับโครงการ เหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี นั้น ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ โดยเหมืองดังกล่าว มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน

 

โดยก่อนที่ ครม. จะมีมติให้เดินหน้าโครงการ และไฟเขียวผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี นั้น บริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ได้มีการดำเนินงานตามขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งรายละเอียดไว้ สรุปได้ดังนี้ 

 

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ 

 

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง  63% เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม  

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ

 

ต่อมาในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

 

ทั้งนี้พื้นที่ เหมืองแร่โพแทช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ  ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี หากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 8 แสนตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท  

 

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า หลังจากโครงการ เหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ได้ผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะไปเร่งออกประทานบัตร ซึ่งภาคเอกชนก็อยากทำไห้เร็ว คาดว่า อย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็คงเริ่มต้นดำเนินการได้ 

สำหรับบิ๊กโปรเจกต์เหมืองแร่โพแทชนี้ ซึ่ง บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เตรียมจะได้รับประทานบัตร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาของรัฐบาล ก่อนจะอนุญาตให้เปิดการทำเหมือง

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผ่านระบบบริการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทครบวงจร Creden Data พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า บริษัทดังกล่าว มีกรรมการ และผู้ถือหุ้น เป็นนักธุรกิจระดับเจ้าสัวที่มีชื่อเสียงอยู่ในบริษัทด้วย ขณะที่ผลประกอบการนั้นก็พบว่าที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 

  • 2034/159 อาคารอิตัลไทยทาวเวอร์ ชั้น 42 ห้อง 159 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
  • จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2527 (37 ปี 9 เดือน)
  • ประกอบธุรกิจการทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน โดยมีวัตถุประสงค์ทำเหมืองแร่โพแทช
  • มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 100 ล้านบาท
  • มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมคือ บริษัท ไทยอะกริโกโปแตซ จำกัด
  • มีบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ บริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด, บริษัท เหรียญทองอุตสาหกรรมเกลือ จำกัด, บริษัท สันต์ ดินมาร์ล จำกัด และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)

 

กรรมการบริษัท มีทั้งหมด 8 คน 

  • นายเปรมชัย กรรณสูต 
  • นางนิจพร จรณะจิตต์
  • นายไผท ชาครบัณฑิต 
  • นายมนู เลียวไพโรจน์ 
  • นายมนัส ลีวีระพันธุ์ 
  • นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล 
  • นายธรณิศ กรรณสูต 
  • นางสาวนิภา ลำเจียกเทศ

 

ผู้ถือหุ้น มีทั้งหมด 11 ราย 

  • บริษัท สินแร่ เมืองไทย จำกัด สัดส่วน 75% จำนวน 749,992 หุ้น
  • บริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด สัดส่วน 15% จำนวน 150,000 หุ้น
  • กระทรวงการคลัง สัดส่วน 10% จำนวน 100,000 หุ้น

 

ส่วนที่เหลืออีก 8 ราย ถือหุ้นรายละ 1 หุ้น มีรายชื่อดังนี้  

  • ชาตรี โสภณพนิช
  • ธวัชชัย สุทธิประภา
  • นิจพร จรณะจิตต์
  • ปิติ กรรณสูต
  • ยุทธชัย จรณะจิตต์
  • วิสุทธิ์ จิราธิยุต
  • เปรมชัย กรรณสูต
  • ไผท ชาครบัณฑิต

 

สินทรัพย์บริษัท ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 มีดังนี้

  • ปี 2560 จำนวน 1,392 ล้านบาท
  • ปี 2561 จำนวน 1,398 ล้านบาท
  • ปี 2562 จำนวน 1,401 ล้านบาท
  • ปี 2563 จำนวน 1,415 ล้านบาท
  • ปี 2564 จำนวน 1,417 ล้านบาท

 

รายได้รวม

  • ปี 2560 จำนวน 3.9 ล้านบาท
  • ปี 2561 จำนวน 4.5 ล้านบาท
  • ปี 2562 จำนวน 3.6 ล้านบาท
  • ปี 2563 จำนวน 1.5 ล้านบาท
  • ปี 2564 จำนวน 1.4 ล้านบาท

 

ผลประกอบการ

  • ปี 2560 ขาดทุน 45 ล้านบาท
  • ปี 2561 ขาดทุน 34 ล้านบาท
  • ปี 2562 ขาดทุน 37 ล้านบาท
  • ปี 2563 ขาดทุน 35 ล้านบาท
  • ปี 2564 ขาดทุน 34 ล้านบาท
  • โดยพบว่ามีอัตราส่วนกำไร/ขาดทุนต่อรายได้รวมอยู่ที่ -2,425%