ครม.จัดเต็มเคาะแผนลงทุน EEC ลุย 77 โครงการ 3.3 แสนล้าน

28 มิ.ย. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2565 | 22:47 น.
922

ครม. จัดเต็มเห็นชอบแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ปี 2566 - 2570 เพื่อยกระดับโครงข่ายคมนาคม 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 3.3 แสนล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค จำนวน 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797ล้านบาท 

 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งเห็นชอบร่าง แผนปฏิบัติการ โครงสร้างพื้นฐานฯ ปี 2566 – 2570 โดยทั้ง 77 โครงการ แบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

 

ระยะเร่งด่วน (เริ่มต้นปี 2566)

  • จำนวน 29 โครงการ 
  • วงเงินรวม 125,599 ล้านบาท 
  • เช่น โครงการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา - ศรีราชา (125 กิโลเมตร) และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา - มาบตาพุด (70 กิโลเมตร)
  • โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1
  • โครงการก่อสร้างทางขับอากาศยาน High Speed Taxiway และ Taxiway เพิ่มเติม ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
  • โครงการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะ 
  • โครงการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระยะที่ 2
  • โครงการจัดหาพลังงานสะอาด

ระยะกลาง (เริ่มต้นปี 2567 – 2570)

  • จำนวน 48 โครงการ 
  • วงเงินรวม 212,197 ล้านบาท 
  • เช่น โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา
  • โครงการมอเตอร์เวย์ ระยะที่ 2
  • โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา – ระยอง 
  • โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 2 และปรับปรุงท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1
  • โครงการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 

 

สำหรับแหล่งเงินลงทุน 337,797 ล้านบาท แบ่งเป็น 

  • การลงทุนโดยภาครัฐ (งบประมาณประจำปี/เงินกู้/เงินรัฐวิสาหกิจ/เงินกองทุน) จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578.07 ล้านบาท 
  • การลงทุนโดยเอกชน/PPP จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ เช่น เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง ปี 2566-2570 เฉลี่ยประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี และยกระดับ National Gateway สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่ EEC 
  • ด้านสังคม โดยมีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย คุณภาพสูง เชื่อมการเดินทาง แบบไร้รอยต่อ สะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพที่ดี รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • ด้านโลจิสติกส์ เช่น มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กิโลเมตร และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 155 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคน/ปี ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้/ปี และรองรับรถยนต์ได้ 3 ล้านคัน/ปี และท่าเรือมาบตาพุดสามารถรองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านตัน/ปี