ครม.ไฟเขียวเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี มูลค่าลงทุนกว่า 3.6 หมื่นล้าน

28 มิ.ย. 2565 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2565 | 23:10 น.
4.1 k

ที่ประชุมครม.ไฟเขียวโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนกว่า 3.6 หมื่นล้าน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เตรียมเร่งออกประทานบัตร คาดอย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน คงเริ่มต้นดำเนินการได้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะไปเร่งออกประทานบัตรต่อไป โดยโครงการนี้ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยให้กับเกษตรกร

 

สำหรับโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และส่วนราชการตามกฎหมายแล้ว รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งก็พบว่าเป็นไปตามข้อกำหนด จึงได้เสนอเข้ามาในครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

“หลังจากโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ได้ผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะไปเร่งออกประทานบัตร ซึ่งภาคเอกชนก็อยากทำไห้เร็ว คาดว่า อย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็คงเริ่มต้นดำเนินการได้ ซึ่งเหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี” นายสุริยะ กล่าว

 

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี นั้น ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ โดยเหมืองดังกล่าว มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนของโครงการประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมา บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรไปแล้ว

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า ครม.ได้รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลังได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมาประกอบด้วย

 

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน และมาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ
 

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง  63% เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม 

 

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 

 

สำหรับ พื้นที่เหมืองแร่โพแทช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ  ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ 

 

ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง