กังขา รถเมล์ EV ยุคลุงตู่ล็อตแรก 953 ล้านเลี่ยงสภาพัฒน์ฯ กลั่นกรอง

07 มิ.ย. 2565 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 23:17 น.
1.2 k

โครงการจ้างเหมาเอกชนเดินรถเมล์ EV จำนวน 224 คัน มูลค่า 953 ล้านบาท ยุครัฐบาลลุงตู่ น่ากังขา เร็ว หรือเลี่ยงเสนอเข้าบอร์ดสภาพัฒน์ฯ กลั่นกรอง หลังวงในระบุซอยโครงการย่อย ลดเวลาการจ้าง อาจกดราคาโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จับตาขสมก.เดินหน้ายังไงต่อ

แผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ล่าสุดของขสมก. เพื่อแก้ปัญหาการแบกภาระหนี้สินสะสมมหาศาลกว่า 1.3 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการจัดหารถโดยสารใหม่ ในลักษณะของการ เช่า/จ้างภาคบริการ โดยจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (รถเมล์ EV)จำนวน 2,511 คัน 

 

ตามแผน ขสมก. กำหนดเอาไว้ว่า การจ้างเหมาเอกชนบริการเดินจำนวน 2,511 คัน จะซอยเป็นงวด ๆ รวมทั้งหมด 7 โดยในงวดที่ 1-6 กำหนดเอาไว้จำนวนงวดละ 400 คัน ส่วนงวดสุดท้ายกำหนดไว้ในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน แต่ในงวดแรกนั้น กำหนดจะเร่งทำก่อน 224 คัน มูลค่า 953 ล้านบาท ผ่านการประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

 

ล่าสุดในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) “กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล” ออกมาระบุว่า ขสมก.พร้อมเดินหน้า แต่อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน และแน่ใจ ก็ได้เตรียมดันโครการนี้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดย ขสมก.ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ส่งผู้ร่วมสังเกตการณ์ต่อร่างเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) ของโครงการ ซึ่งปัจจุบันได้ทำ TOR เอาไว้ในเบื้องตันแล้ว

 

หากทุกอย่างผ่านฉลุย ก็ต้องเสนอเข้าไปยังบอร์ดขสมก. เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนประกาศประกวดราคาหาเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการนี้ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยอย่างเร็วที่สุดน่าจะได้ทำการจ้างเอกชนในช่วงปลาย ๆ ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

 

ส่องอายุรถเมล์ไทย ขสมก. ยี่ห้อไหนใช้งานมากี่สิบปี ก่อนลุยแผนจัดหารถใหม่

ตามแผนเดิม ขสมก. กำหนดว่าจะเริ่มการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการในเส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 1,500 คัน โดยเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV เท่านั้น ใน 54 เส้นทาง (ภาคสมัครใจ) และจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว)

 

โดยกรณีจ้างเอกชนวิ่งให้บริการ (ภาคสมัครใจ) กำหนดกฎเหล็กไว้ว่า จะจ้างวิ่งตามกิโลเมตรบริการ เปิดให้เฉพาะรถเอกชนร่วมบริการที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น และสุดท้ายรถโดยสารที่จะนำมาให้บริการต้องเป็นรถใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปีด้วย

 

ดูไปดูมาเหมือนกับว่าไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด แต่ช้าก่อน... หากย้อนขึ้นไปดูรายละเอียดข้างต้นจะพบว่า ตามแผนในระยะแรกขสมก.กำหนดเอาไว้ว่า ในการดำเนินโครงการงวดแรกนั้น กำหนดการจ้างเหมาเอกชนบริการเดินเอาไว้จำนวนงวดละ 400 คัน

 

วัดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งรถโดยสาร EV เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

 

กรณีนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวมีเงื่อนงำที่น่ากังขา แยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

1. เรื่องวงเงินของโครงการ การปรับลดจำนวนรถโดยสารลงมาจากกรอบเดิม 400 คัน เหลือ 224 คัน มูลค่า 953,648,640 บาท แม้ว่าจะระบุว่าช่วยทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ขสมก.อาจจะหลีกเลี่ยงการเสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) กลั่นกรองโครงการ เพราะมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท

2. ระยะเวลาการจ้าง ซึ่งจะเริ่มนับจากวันถัดจากวันที่มีการบรรจุรถโดยสารปรับอากาศในคราวแรกตามใบอนุญาตขนส่งใหม่ และจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 730 วัน (24 เดือน) นับจากวันเริ่มจ้าง ด้วยวิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

 

หากสิ้นสุดระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี หากมีการกำหนดเรื่องเอาไว้ใน TOR และตอนการเปิดประชาพิจารณ์ด้วยว่า หากหลังจากนั้นมีเปิดช่องให้ต่อเวลาอีกได้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการเลี่ยงเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ชัดเจน เพราะวงเงินโครงการจะเกิน 1,000 ล้านบาท

 

เปิด TOR ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งรถเมล์ EV 224 คัน ราคาเกือบพันล้าน

 

3. อัตราการจ้างเหมาเอกชน เบื้องต้นที่เคยคิดว่าจะจ้างในอัตรา 6,000 บาทต่อวันต่อคัน ถือเป็นตัวเลขที่สูง แม้ว่าทางขสมก. จะออกมาชี้แจงโดยหยิบเอาตัวอย่างต้นทุนของรถ ขสมก. ครีม-แดง ที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท มาเปรียบเทียบ พบว่า

 

ขสมก.ครีม-แดง จะมีค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิง ประมาณ 2,600 บาทต่อเที่ยว (คิดฐานราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท) และค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร 3,000 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งจะสูงกว่า 6,000 บาทต่อวันต่อคันแน่นอน เพราะเป็นการใช้น้ำมันดีเซล แต่กลับไม่นำผลการศึกษารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นมาเทียบ 

 

4. สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อในปัจจุบัน มีความเป็นได้ว่ารายได้ที่ขสมก.จะจัดเก็บภายใต้อัตราค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) อาจไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนการดำเนินงาน และสุดท้าย ขสมก. จะหาแหล่งเงินจากไหนมาจ้างเหมาเอกชน

 

ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ยังไม่เห็นเรื่องของขสมก. เสนอเข้ามาในบอร์ดสภาพัฒน์ฯ จะเห็นแค่ช่วงที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งขสมก.ได้รายงานแผนการฟื้นฟูกิจการในภาพรวมเท่านั้น

 

ส่วนกรณีของโครงการจ้างเหมาเอกชนนี้ แน่นอนว่า หากมูลค่าโครงการไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ก็ไม่เข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง และทำให้บอร์ดสภาพัฒน์ฯ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นประกอบเรื่องนี้ เหมือนกับโครงการอื่น ๆ ที่มีการแสดงความเห็น หรือทักท้วงในกรณีต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตามใครที่จับตาดูโครงการนี้ว่าจะคลอดออกมาได้อย่างไร หรือจะสนองนโยบายของรัฐบาลได้มากแค่ไหน ไม่นานนี้ทุกอย่างจะเฉลยออกมาให้เห็นแน่นอน