ส่อง รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ 4 คัน หลังขสมก.อัพเกรดรถเมล์เก่า ลดต้นทุน30%

31 พ.ค. 2565 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 01:27 น.
1.9 k

ขสมก.เปิดรถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ 4 คัน มูลค่า 57 ล้านบาท อัพเกรดรถเมล์เก่าใช้งาน 20 ปี หวังลดต้นทุนนำเข้ากว่า 30% คาดใช้งานได้ 5-10ปี

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 31 พ.ค.65 ที่สำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดตัวและส่งมอบผลงานโครงการการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ภายใต้โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. (City transit E-buses) โดยภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทย

 

 

 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน ที่สําคัญคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสาร สาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือ (Consortium) ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดําเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สํานักงานนโยบายและ แผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชน ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

 

 

ทั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 57 ล้านบาทในการดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สนับสนุนงบประมาณหน่วยงานละ 11 ล้านบาท รวมเป็น 33 ล้านบาท สวทช. สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า และดำเนินการวิจัย รวมทั้งบริษัทเอกชนที่ผลิตรถโดยสารทั้ง 4 คัน ได้สนับสนุนงบประมาณคันละ 3.5 ล้านบาท รวมเป็น 14 ล้านบาท ขณะที่ ขสมก. ได้สนับสนุนรถโดยสารที่ปลดระวาง ที่มีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี

สำหรับการนํามาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลด ต้นทุนการนําเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่า 40% และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนําเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่า 30% หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งถ้านำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าจากต่างประเทศจะมีต้นทุนคันละ 10-12 ล้านบาท สำหรับภาคเอกชนร่วมพัฒนารถโดยสารใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสาร ไฟฟ้า ก่อนส่งมอบให้กับหน่วยงานผู้สนับสนุน กฟน. กฟภ. กฟผ. และ ขสมก. นําไปใช้งานจริง ประกอบด้วย 1. บริษัท โชคนําชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จํากัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (CNC EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตัวถังจากวัสดุน้ำหนักเบา ด้วยตัวถังอลูมิเนียม ลดน้ำหนักตัวถังเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟน.

 

 

2. บริษัท พานทอง กลการ จํากัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (PTM EV BUS) สัดส่วนการใช้ ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไออนภายในประเทศ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟผ.

ส่อง รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ 4 คัน หลังขสมก.อัพเกรดรถเมล์เก่า ลดต้นทุน30%

3.บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (EVT EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% มีจุดเด่นที่ใช้ชิ้นส่วนสําคัญจากผู้ผลิตชั้นนําจากต่างประเทศโดยตรง ทําให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานและรับประกัน เพื่อส่งมอบให้กับ กฟภ.

 

ส่อง รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ 4 คัน หลังขสมก.อัพเกรดรถเมล์เก่า ลดต้นทุน30%

4. บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จํากัด พัฒนา รถโดยสารไฟฟ้า (SMT EV BUS) ที่มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมการออกแบบระบบ ขับเคลื่อน จากประสบการณ์พัฒนารถโดยสารไฟฟ้าและทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง บนระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก.

 

ส่อง รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ 4 คัน หลังขสมก.อัพเกรดรถเมล์เก่า ลดต้นทุน30%

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบรถเมล์ไฟฟ้าแล้ว ขสมก. จะนำไปจดทะเบียนตามกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดให้เรียบร้อย จากนั้นจะนำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแผนว่าจะนำไปให้บริการในเส้นทางไหน โดยจะคลอบคุลมทั้งเส้นทางในเมืองและนอกเมือง สำหรับรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับมอบนี้ตามโครงการวิจัยจะสามารถใช้งานได้ 5-10 ปี