สคบ.จ่อคุมโฆษณา YouTube กวนใจ อาจผิดกฎหมาย กระทบสิทธิผู้บริโภค

13 พ.ค. 2565 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 06:40 น.
2.1 k

สคบ.เตรียมหาแนวทางคุมโฆษณา YouTube กวนใจ เด้งขึ้นมาบ่อย ๆ ชี้อาจผิดกฎหมาย สคบ. หลังจากลงพื้นที่พบปะชาวบ้านพบการแจ้งเรื่องมาหลายคนให้สคบ.ช่วยดูเพราะกระทบสิทธิผู้บริโภค เตรียมหารือกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อหาทางควบคุมดูแล และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

สังคมยุคเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของคนเราทุก ๆ วินาที โดยเฉพาะการเสพข้อมูลมากมายทั้งการศึกษา สาระความรู้ และความบันเทิง ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย อย่างเช่น YouTube ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสื่อยอดนิยม และคนไทยส่วนใหญ่ตั้งแต่เด็กยันผู้สูงวัยก็สามารถเข้ามาใช้ YouTube ได้อย่างสะดวกตลอดเวลา

 

จากรายงาน Global Digital Report 2022 โดย Hootsuite และ We are Social ระบุข้อมูลที่น่าในใจของประเทศไทย ผ่านรายงาน DIGITAL 2022: THAILAND พบว่า จากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศไทยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 70.01 ล้านคน เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 54.50 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนอยู่ที่ 77.8% ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นอันดับที่ 34 ของโลก

 

Global Digital Report 2022

 

โดยประเทศไทยมีอัตราส่วนการใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน ติดอันดับที่ 7 ของโลก และติดอันดับสองของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยที่ฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

ตามข้อมูลระบุถึงจำนวนผู้ใช้ YouTube ในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2565 ด้วยว่า เป็นช่องทางสื่อที่มีผู้จำนวนผู้ใช้มากที่สุดถึง 42.80 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับ 61.1% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงสูงที่สุดถึง 52.2% ขณะที่เหลืออีก 47.8% เป็นผู้ชาย

 

DIGITAL 2022: THAILAND

อย่างไรก็ตามในการใช้งาน YouTube แต่ละครั้ง หลายคนคงได้พบกับการโฆษณาสินค้าและบริการต่าง ๆ ระหว่างการใช้งาน ทั้งที่มีในลักษณะการโฆษณาตั้งแต่เริ่มต้นเข้าไปชมเนื้อหา หรือแทรกขึ้นมาในระหว่างการเล่นหลายครั้ง โดยเฉพาะวีดีโอที่มียอดการเข้าชมจำนวนมาก สามารถสร้างเงินสะพัดในธุรกิจสื่อจำนวนไม่น้อย

 

ที่ผ่านมา สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) ประเมินเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2565 จะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 9% อยู่ที่ 27,000 ล้านบาท โดย YouTube เป็นแพลตฟอร์มอันดับที่ 2 รองลงมาจาก Facebook ที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ในการโฆษณาและบริการต่าง ๆ ผ่าน YouTube ในรูปแบบปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่าสูงว่า อาจเป็นการทำผิดกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า

 

มาตรา 23 กำหนดให้การโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

 

แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุถึงการโฆษณาและบริการต่าง ๆ ผ่าน YouTube ว่า สคบ.กำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ โดยขอเวลาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาผ่านช่องทางดังกล่าวอีกระยะหนึ่งว่า ดำเนินการถูกต้อง หรือขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิของผู้บริโภคหรือไม่ 

 

“ปัจจุบันเจ้าของแพลตฟอร์มได้ขายโฆษณาแล้วเอาโฆษณานั้นใส่เข้าเข้าไปเลย หรือมาอันที่มีสปอนเซอร์ก็ดับเบิ้ลเข้าไปเลย สคบ.จึงต้องมาดูให้ละเอียดว่าจะต้องทำยังไง เพราะกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคแน่นอน แต่การจะทำอะไรก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาคเอกชนด้วย” แหล่งข่าวระบุ

ที่ผ่านมา สคบ. ได้มีการหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว และได้รับการแจ้งมาว่า กสทช. ไม่มีอำนาจดูแลเรื่องนี้โดยตรง และคงจะไปไม่ถึงในด้านการกำกับดูแลในกรณีดังกล่าว 

 

“สคบ.เคยได้รับการร้องเรียนมาบ้างในเป็นช่องทางร้องเรียนร้องทุกข์ทางการ แต่ก็เป็นจำนวนน้อย แต่จากการลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาเรื่องเดือดร้อนของประชาชนหลายครั้ง สคบ. ก็ได้รับการแจ้ง หรือมีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนอยากให้สคบ.ช่วยดูแลเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่เป็นเจ้าภาพดูแล” แหล่งข่าว ยืนยัน

 

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น สคบ. จึงเตรียมไปหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งคาดว่า จะมีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่า จะมีแนวทางในการออกมากำกับดูแลอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม เพราะตอนนี้ก็ทราบว่า หากผู้บริโภคต้องการให้ไม่มีโฆษณาก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งกรณีนี้คงต้องมาดูว่าขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่

 

แหล่งข่าว ยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าว คงไม่ได้ทำได้โดยง่าย เพราะติดกระบวนการทางราชการ ตัวอย่างง่าย ๆ แม้ที่ผ่านมา สคบ. จะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับดีอีเอสแล้ว แต่ก็ได้รับการยืนยันว่า ถ้าจะทำก็ต้องมีคำพิพากษาของศาลชี้ชัดออกมาก่อนว่ามีความผิด เพื่อจะให้ดีอีเอสเข้าไปดำเนินการ เช่น สิ่งปิดหรือถอดออกได้

 

แหล่งข่าว ยืนยันว่า การแก้ปัญหาเรื่องการบังคับชมโฆษณาผ่าน YouTube ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการเสพสื่อต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่ได้เสียเงิน แต่ต้องไม่ให้กระทบสิทธิของผู้บริโภค ไม่เดือดร้อนรำคาญ เทียบเคียงกับการดูทีวี ซึ่งมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า สามารถโฆษณาได้จำนวนเท่าไหร่ มีเวลาไม่เกินเท่าไหร่ ต่างจาก YouTube ที่โฆษณาตลอดเวลา

 

ดังนั้นในอนาคต สคบ. และหน่วยงานต่าง ๆ อาจต้องหยิบยกเอาตัวอย่างเรื่องของการโฆษณาทีวีมาพิจารณา เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการออกมาตรการมารองรับที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากที่สุด