ดีลแสนล้านควบรวม “TRUE-DTAC” ภารกิจร้อน 5 อรหันต์ กสทช.ป้ายแดง

15 เม.ย. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 02:22 น.
4.6 k

ดีลแสนล้านควบรวม “TRUE-DTAC” ภารกิจร้อน 5 อรหันต์ กสทช.ป้ายแดง กับ ข้อสงสัยการผูกขาดธุรกิจไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

โปรดเกล้าแต่งตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทั้งหมด 5 คน ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างเป็นทางการมีผลเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565

รายชื่อ คณะกรรมการ กสทช ทั้งหมด 5 คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  มีรายชื่อดังต่อไปนี้ 

  • ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ
  • พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  •  ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ (ด้านกิจการโทรทัศน์)
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  •  รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ด้านเศรษฐศาสตร์)

 

ดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ภารกิจร้อน

ภารกิจหลังจากนี้ของบอร์ด 5 กสทช.ล่าสุด คงหนีคำถามไม่พ้นดีลควบรวมธุรกิจแสนล้านระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC กับข้อข้องใจเมื่อควบรวมธุรกิจแล้วจากเดิม 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย มีอำนาจเหนือตลาดผูกขาดธุรกิจ

 

โดยเฉพาะ ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ ต้องถูกบรรดาสื่อมวลชนตั้งคำถามดีล TRUE-DTAC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ดีลแสนล้าน "TRUE-DTAC"


 

ห้ามควบรวมบริษัทฯแม่ภายใน 3-5 ปี

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการ กสทช. ได้ออกมายืนยันว่า  การควบรวมของบริษัทแม่ ต้องปล่อยไปตามนั้น ส่วนการดำเนินกิจการในไทยที่จะเป็นบริษัทผู้เข้ารับใบอนุญาตจาก กสทช.นั้น จะมีการเขียนเงื่อนไขและกำหนดมาตรการดำเนินงานของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นของ 2 บริษัทว่า ในระยะ 3-5 ปี ห้ามไม่ให้ ทรูและดีแทค ควบรวมกิจการเหลือบริษัทเดียว ให้ยังคงสภาพการแข่งขันใน 3 รายใหญ่ คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค ไปพลางก่อน

 

ส่วนบริษัทใหม่สามารถให้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีด้านอื่นๆตามที่ทั้งสองบริษัทได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการไปก่อนหน้านี้

 

AIS โดดขวาง

ก่อนหน้านี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากดีลควบรวมกิจการ “TRUE-DTAC” มีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง

 

ที่สำคัญมาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

 

 

 

 

 

AIS ขวาง ดีล "TRUR-DTAC"

 

สแกนจำนวนผู้ใช้บริการค่ายมือถือ

ณ สิ้นไตรมาส 2564 

  • เอไอเอส มีจำนวนผู้ใช้บริการ 44.1 ล้านเลขหมาย
  • ทรู มูฟเอช  มีจำนวนผู้ใช้บริการ 32.25 ล้านเลขหมาย
  • ดีแทค มีจำนวนผู้ใช้บริการ  19.65  ล้านเลขหมาย

 

ลือสนั่นตั้งชื่อ “TRUE-D”

กระบวนการขั้นตอนควบรวม “TRUE-DTAC” ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญของทั้งสองบริษัทฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 โหวตผ่านฉลุยเรียบร้อย และ ที่สำคัญทั้งสองค่ายเตรียมจดทะเบียนตั้งชื่อ บริษัท ทรู-ดีจำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อทางการตลาดว่า “TRUE-D”

 

ดีลควบรวมธุรกิจแสนล้าน “TRUE-DTAC” ภารกิจร้อนที่ 5 อรหันต์ กสทช.ป้ายแดงต้องตอบคำถามกับสังคม.