ค้านสุดโต่งควบรวม “TRUE-DTAC” สอบ. ชี้ดีลสำเร็จอำนาจเหนือตลาดทันที!

14 ก.พ. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 21:10 น.
3.1 k

เปิดเอกสารสภาองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึง กสทช. คัดค้าน “TRUE-DTAC” ควบรวมธุรกิจ เผยหากข้อตกลงสำเร็จมีส่วนแบ่งการตลาด 52% มีอำนาจเหนือตลาดทันที

จากกรณีที่  วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) สภาองค์กรผู้บริโภค หรือ สอบ.ได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อขอให้ชะลอพิจารณาลงมติ กรณีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ ดังกล่าว และให้คณะกรรมการ กสทช. ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเสนอโปรดเกล้าฯ เข้ามาพิจารณาเรื่องนี้ให้เป็นไปอย่างครบถ้วน เปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค

 

 

สำหรับรายละเอียดที่ สอบ. ส่งหนังสือถึง  กสทช.เพื่อขอชะลอการพิจารณาลงมติ การควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดังนี้

 

1. หากข้อตกลงในการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล และสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ กิจการภายใต้บริษัทดังกล่าวจะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศไทยถึง52 % ซึ่งมีค่าดัชนีวัดระดับความมีประสิทธิภาพของการแซ่งในตลาด (Herfindah(-Hirschman Index HHI) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน (Failure market และอาจมีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

 

2. หากมีการควบรวมกันในระดับบริษัทระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัต (มหาขน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากจะทำให้ผู้บริโภค มีตัวเลือกที่น้อยลงแล้ว อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล เกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก และส่งผลตอราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย

 

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขันในกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงมีข้อเสนอมายังท่าน ขอให้ชะลอการพิจารณาลงมติ กรณีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ (กรรมการ กสทช.)

 

 

ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเสนอโปรดเกล้าฯ เข้ามาดำเนินการพิจารณาตามลำดับต่อไป อีกทั้งกระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างครบถ้วน เปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

 

(นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์)

ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศสภาองค์กรของผู้บริโภค

 

 

ค้านควบรวม "TRUE-DTAC"

ล่าสุด นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  กสทช. มีอำนาจตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม(2561) และ ประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

 

ดังนั้น กสทช. จำเป็นต้องทำหน้าที่กำกับดูแลในฐานะ(Regulator)ไม่ใช่เป็นแค่เพียงนายทะเบียน(Registrar)เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมในกิจกรรมโทรคมนาคม และ คุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเหตุผลของการมีอยู่ของ กสทช.เอง (Raison d’être) 

 

กสทช. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง อิสระ เที่ยงตรง เป็นธรรม ในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจะทำเพียงการรับรองการควบรวมไม่ได้ แต่ต้องยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก 

 

ตอนนี้ มีผู้ให้บริการสามรายใหญ่ในตลาด ยังถือว่าการแข่งขันยังไม่เต็มที่มากนัก เข้าลักษณะ Oligopoly  ที่ผู้บริโภคยังรู้สึกได้ว่ามีทางเลือกน้อย  เพราะผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมมีอำนาจในตลาดมาก และที่ผ่านการกำกับดูแลเพื่อผู้บริโภคก็ไม่ได้เข้มแข็ง   ดังนั้นถ้าลดลงเป็น Duopoly คือมีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดสองราย ผลกระทบต่อทางเลือกของผู้บิโภค จะเป็นอย่างไร   ดังนั้น กสทช. ต้องอธิบายสังคมถึงผลกระทบต่อการแข่งขันและผู้บริโภคในกรณีนี้ และ มีแผนการกำกับดูแลในอนาคตเพื่อรับมือกับปัญหาหรือไม่ รวมถึงรัฐบาลที่บริหารนโนบายการสื่อสารประเทศด้วย

 

ที่อ้างว่าควบรวมแล้ว เหลือสองรายใหญ่กลายเป็น Duopoly   แม้อ้างว่ามีการแข่งขันอยู่บ้างแต่มีแนวโน้มจะไปสู่ collusion หรือ สภาวะ Monopoly ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดสูง แต่มีผู้แข่งขันน้อยรายอย่างธุรกิจโทรคมนาคมโดยที่รายใหม่ๆจะยิ่งเข้าสู่ตลาดเดิมยากขึ้น ผู้บริโภคจะมีอำนาจน้อยลงไปอีก จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร 

 

ที่สำคัญตอนนี้ สังคมกำลังรอ กสทช. ชุดใหม่มาทำหน้าที่อยู่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมาย และ ทางสังคม  จึงขอให้ กสทช.ชุดรักษาการยุติการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อรอให้ กสทช. มาเริ่มกระบวนการพิจารณาต่อไป และในขณะนี้ กสทช. ชุดรักษาการ ควรใช้เวลาในการกำกับดูแลเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ให้ผู้บริโภค เช่นเรื่อง SMS Call center หลอกลวง ที่ทำคนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า จนกลายเป็นวาระแห่งชาติแล้ว

 

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และ อาจารย์และนักวิชาการ 86 รายจากทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อเรียกร้อง กสทช. และ กขค. ตรวจสอบดีลควบรวม TRUE-DTAC