คนไทยยุคของแพง ต้องหาเงินให้ได้กี่ล้าน ถึงจะเลี้ยงลูกหนึ่งคนได้จนโต

21 มี.ค. 2565 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2565 | 05:11 น.
7.5 k

เปิดข้อมูลสำคัญที่คนไทยควรรู้ หากตั้งใจอยากมีลูกสักหนึ่งคน จะต้องหาเงินให้ได้เท่าไร่ หรือต้องใช้เงินเป็นล้านหรือไม่ ถึงจะเลี้ยงลูกได้จนโตถึงวัยทำงาน หาคำตอบและแนวทางการรองรับสถานการณ์ทั้งหมดได้ที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดข้อมูลผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย พบว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้า และอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ สศช. ได้นำบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสะท้อนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้อย่างรอบด้าน ที่เชื่อมโยงกับการหารายได้และการใช้จ่ายของประชากรแต่ละช่วงวัย มาวิเคราะห์

 

เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายและมาตรการเตรียมพร้อมรับมือในมิติต่าง ในอนาคต และยังทำให้ทราบถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประชากรในแต่ละอายุ

 

อีกทั้งยังช่วยวิเคราะห์ผลกระทบทางจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้รอบด้าน และครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงผลกระทบต่อรัฐทั้งในด้านการหารายได้ (ภาษี) และภาระทางการคลัง

 

สำหรับเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ หลัง สศช.ได้นำระบบ NTA มาวิเคราะห์ถึงการวางแผนทางการเงินของประชาชน โดยจากข้อมูลการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่า

 

หากต้องการเลี้ยงดูเด็กจนถึงอายุ 21 ปี หรือตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท (หักค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน) 

 

ขณะที่คนวัยแรงงานต้องการวางแผนเกษียณที่จะอยู่ได้จนถึงอายุ 90 ปี ต้องมีค่าใช้จ่าย 3.1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน) หรืออาจกล่าวได้ว่าหากวัยแรงงานอาศัยอยู่ร่วมกับเด็ก 1 คน และผู้สูงอายุ 1 คน โดยที่เด็กและผู้สูงอายไม่สามารถหารายได้ได้เลย 

 

แรงงาน 1 คนจะต้องหารายได้เบ็ดเสร็จรวมแล้วถึง 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง

อย่างไรก็ตามจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล NTA ในปี 2562 ยังพบว่า คนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (การขาดดุลรายได้) คิดเป็นมูลค่าถึง 2.04 ล้านล้านบาท หรือ โดยเฉลี่ยคนไทยหารายได้ได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี 

 

ดังนั้นผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอจะใช้รายได้จากทรัพย์สินที่เก็บสะสมไว้ และเงินโอนจากบุคคล และรัฐมาชดเชยความไม่เพียงพอที่เกิดขึ้น ซึ่งหากโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และสุดยอดในปี 2566 และ 2576 การขาดดุลรายได้ในภาพรวมของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.16 ล้านล้านบาท และ 2.57 ล้านล้านบาท ตามลำดับ 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนไทยต้องหารายได้จากแหล่งอื่นมาชดเชยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงต้องให้ความสำคัญกับการมีหลักประกันรายได้ หรือการส่งเสริมการออมตั้งแต่ปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานการณ์การออมในปัจจุบัน พบว่า มูลค่าการออมของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำโดยปี 2562 คนไทยมีเงินออมเฉลี่ยที่ 133,256 บาทต่อครัวเรือน และเกิน 1 ใน 5 ของครัวเรือนนำเงินออมมาใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน

 

ดังนั้นหากพฤติกรรมการออม และการมีหลักประกันด้านรายได้ยังไม่เปลี่ยนแปลง การขาดดุลรายได้ที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นภาระของรัฐที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าวในอนาคต


ส่วนผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรของไทยที่เป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นจะทำให้ เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ดังนี้ 

  • ปี 2564 การขยายตัวของ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 2.6% 
  • ปี 2566 การขยายตัวของ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 2.5% 
  • ปี 2576 การขยายตัวของ GDP ต่อหัวอยู่ที่ 2.1% 

จะเห็นได้ว่า โครงสร้างประชากรที่มีวัยแรงงานลดลงจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจให้หดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 0.5% ต่อปี โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจเดิม ผลิตภาพเดิม และโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสั่งสมความมั่งคั่งต่อหัว จะเป็นไปได้ยากขึ้น

 

สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งหมด สศช. มีข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย

 

1. การเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้ และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการยกระดับรายได้ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ดังนี้

  • วัยเด็กต้องเตรียมความพร้อมให้มีทักษะเพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนที่อยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นอีก
  • การยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงานและพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรกลุ่มประชากรอายุ15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ ทำงาน หรือฝึกอบรม ผ่านมาตรการในการยกระดับรายได้ อาทิ การพัฒนาทักษะ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรการค่าจ้าง รวมทั้งระบบสวัสดิการ 
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้นที่ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงาน
  • ศึกษาถึงลักษณะและตำแหน่งงาน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่องค์กรจะได้รับจากการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

 
2. การชดเชยการขาดแคลนของแรงงาน ผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง เช่น 

  • ออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงแรงงานไทยในต่างประเทศที่มีสมรรถนะสูงให้กลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับผลิตภาพให้แก่ประเทศ 
  • ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างชาติในกลุ่มที่มีทักษะสูง รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

 
3. การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน จากบทบาทของภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการชดเชยการขาดดุลรายได้ตามช่วงอายุ ซึ่งในอนาคตแนวโน้มการขาดดุลรายได้จะสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันอย่างจริงจัง เช่น 

  • การเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงินโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน 
  • การวางแผนเกษียณเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในยามที่ไม่สามารถหารายได้ได้หรือมีรายได้ลดลง โดยภาครัฐควรมีแนวทางในการปรุงปรับระบบหลักประกันรายได้หลังเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ส่งเสริมความรอบรู้ด้านการเงินให้แก่ครัวเรือน เพื่อให้เกิดการบริหารการเงินที่ปลอดภัย

 
4. การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศ เพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน หลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้ส่งผลให้ภาระทางการคลังของภาครัฐ รวมถึงหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของภาครัฐจากการจัดเก็บภาษีลดลง จึงจำต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ เช่น

  • หาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย 
  • วางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายและเงินอุดหนุนทางสังคมในระยะยาวเพื่อให้มีความมั่นคงทางการคลัง