คนไทยยุคน้ำมันแพงต้องหาเงินเท่าไหร่ หากจะใช้ชีวิตอยู่ได้ถึงอายุ 90 ปี

12 มี.ค. 2565 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 20:26 น.
4.1 k

เปิดข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวให้พร้อมกับการวางแผนทางการเงินของคนไทยในยุคราคาน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง หากจะใช้ชีวิตให้อยู่ได้ถึงอายุ 90 ปี จำเป็นต้องหาเงินสำรองไว้เท่าไหร่เพื่อให้อยู่รอด หาคำตอบได้ที่นี่

สถานการณ์ยุคราคาน้ำมันแพง ทำให้คนไทยใช้ชีวิตได้ยากลำบากมากขึ้น เพราะด้วยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อรายจ่ายที่จำกัดในแต่ละวัน ยิ่งส่งผลกระทบต่อการหาเงินสำรองเอาไว้ใช้ในยามบั้นปลายของชีวิต ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การออมเงินจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรลืม

 

เมื่อไม่นานมานี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยข้อมูลทางด้านภาวะสังคมไทย โดยระบุถึงผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจากโครงสร้างประชากรของไทยที่เป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แยกเป็นช่วงปี ดังนี้

  • ปี 2564 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวอยู่ที่ 2.6% 
  • ปี 2566 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวลดลงเหลือ 2.5%
  • ปี 2576 การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวลดลงเหลือ 2.1%

 

อีกทั้งโครงสร้างประชากรที่มีวัยแรงงานลดลงจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจให้หดตัวลงเฉลี่ยประมาณ 0.5% ต่อปี 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสร้างโอกาสการปันผลทางประชากรครั้งที่ 2 ของไทย (โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสั่งสมความมั่งคั่ง ซึ่งความมั่งคั่งต่อหัว (Wealth per Capita) สามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น) จะเป็นไปได้ยากขึ้น

 

นอกจากนี้ ในประเด็นการขาดดุลรายได้ ภาระทางการคลัง การจัดสรรงบประมาณ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว สศช. ยังนำบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสะท้อนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้อย่างรอบด้าน

 

พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับการหารายได้และการใช้จ่ายของประชากรแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายและมาตรการเตรียมพร้อมรับมือในมิติต่างในอนาคตมาวิเคราะห์

 

โดยสามารถนำมาใช้ในการวางแผนทางการเงินของประชาชนได้อีกด้วย จากข้อมูลการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่า หากวัยแรงงานต้องการวางแผนเกษียณที่จะอยู่ได้จนถึงอายุ 90 ปี ต้องมีค่าใช้จ่าย 3.1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐสนับสนุน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภครองรับการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง

สำหรับประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว สศช. มีข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย

 

1. การเพิ่มรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้ และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการยกระดับรายได้ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ดังนี้

  • วัยเด็กต้องเตรียมความพร้อมให้มีทักษะเพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนที่อยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นอีก
  • การยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงานและพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรกลุ่มประชากรอายุ15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ ทำงาน หรือฝึกอบรม ผ่านมาตรการในการยกระดับรายได้ อาทิ การพัฒนาทักษะ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรการค่าจ้าง รวมทั้งระบบสวัสดิการ 
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้นที่ยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงาน
  • ศึกษาถึงลักษณะและตำแหน่งงาน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่องค์กรจะได้รับจากการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

 

2. การชดเชยการขาดแคลนของแรงงานผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง เช่น 

  • ออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงแรงงานไทยในต่างประเทศที่มีสมรรถนะสูงให้กลับมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับผลิตภาพให้แก่ประเทศ 
  • ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างชาติในกลุ่มที่มีทักษะสูง รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

 

3. การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน จากบทบาทของภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการชดเชยการขาดดุลรายได้ตามช่วงอายุ ซึ่งในอนาคตแนวโน้มการขาดดุลรายได้จะสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันอย่างจริงจัง เช่น 

  • การเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงินโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน 
  • การวางแผนเกษียณเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในยามที่ไม่สามารถหารายได้ได้หรือมีรายได้ลดลง โดยภาครัฐควรมีแนวทางในการปรุงปรับระบบหลักประกันรายได้หลังเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • ส่งเสริมความรอบรู้ด้านการเงินให้แก่ครัวเรือน เพื่อให้เกิดการบริหารการเงินที่ปลอดภัย

 

4. การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน หลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้ส่งผลให้ภาระทางการคลังของภาครัฐ รวมถึงหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของภาครัฐจากการจัดเก็บภาษีลดลง จึงจำต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ เช่น

  • หาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย 
  • วางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายและเงินอุดหนุนทางสังคมในระยะยาวเพื่อให้มีความมั่นคงทางการคลัง