รายได้ต่อหัวคนไทยยุคโควิด ปี 2564 เพิ่มแค่ 7.2 พันบาท

21 ก.พ. 2565 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 21:04 น.
8.3 k

สศช. เปิดตัวเลขรายได้ต่อหัวของคนไทย พบตัวเลขจริงในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ทีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ทำให้มีตัวเลขรายได้ต่อหัวคนไทยเพิ่มขึ้นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

จากกรณีที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 /2564 ขยายตัว 1.9% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 1.6% ส่วนในปี 2565 ยังคงประเมินแนวโน้มเอาไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5 – 4.5% หรือขยายตัวประมาณ 4% นั้น

 

เมื่อพิจารณา "รายได้ต่อหัว" ของคนไทย ตามข้อมูลที่ สศช. ได้มีการแถลงออกมา พบว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในแต่ละปี มีรายละเอียดรายได้ต่อหัวของคนไทย ดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี (ประมาณการ)

รายได้ต่อหัวคนไทย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลจริงดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในปี 2564 รายได้ต่อหัวของคนไทย อยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปี ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเพียงแค่ประมาณ 7,214 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น

 

ขณะที่ปี 2565 ประมาณการว่า รายได้ต่อหัวของคนไทย อยู่ที่ 244,838 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12,662 บาทต่อคนต่อปี

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวต่อไปได้ตามเป้าหมายในกรอบ 3.5 – 4.5% หรือขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ต่อหัวคนไทยเป็นไปตามเป้าหมายนั้น มีปัจจัยสนับสนุนด้วยกัน ดังนี้

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

1.การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ 

 

เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในวงจำกัด ประกอบกับความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและการปรับพฤติกรรมของประชาชนและภาคธุรกิจต่อแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลและป้องกันการระบาดมากขึ้น

 

ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 1.6% ลดลงจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของภาครัฐ 

 

ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการขอรับและการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 -2564

 

2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการเปิดประเทศโดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจากทุกประเทศสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัวผ่านมาตรการ Test and Go ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่1 พ.ย. 2564 ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงพ.ย. และธ.ค. 2564 รวม 321,752 คน และต่อมาภายหลังจากการกลับมาดำเนินมาตรการอีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นมา 

 

ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงวันที่ 1-9 ก.พ. 2565 รวม 48,181 คน และในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 9 ก.พ. 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมอยู่ที่ 151,774 คน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20,172 คนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 

 

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะขยายตัวได้ 30 – 78% ในปี 2565

 

3.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 

 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวต่อเนื่องของกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก เนื่องจากความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่และกลุ่มประเทศอาเซียนรวมทั้ง ไทยที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลักขยายตัวได้ 

 

โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดี อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับประโยชน์จากการ Work-from-home ยานยนต์และชิ้นส่วนตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์จาก ปิโตรเลียมที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าร่วม ยื่นสัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเริ่มมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่คาดว่าจะสร้างโอกาสทางการค้าในการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ของไทยมากขึ้น

 

4.แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ

 

ทั้งนี้มาจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี งบรัฐวิสาหกิจ และกรอบการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม ประกอบด้วย 

  1. การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในกรณีฐานคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุน ณ สิ้นปีงบประมาณ อยู่ที่ 75% ของงบประมาณทั้งหมด ส่งผลให้คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 4.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีงบประมาณ 2564 
  2. การเบิกจ่ายภายใต้งบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยคาดว่าจะมีอัตราการเบิกจ่าย 70% จากวงเงินลงทุนรวม 4.68 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.3% จากปีงบประมาณ 2564 
  3.  การเบิกจ่ายภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ฯ วงเงิน 1 ล้านล้านบาทคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565 ทั้งสิ้น 1.30 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายครบวงเงินกู้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565
  4. การใช้เงินภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายสะสม ณ วันที่ 1 ก.พ. 2565 รวม 2.76 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 รวม 3.9 แสนล้านบาท  และเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566