ปิดช่องออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดก้อนใหม่ สศช.ยันมีเงินเหลือรับวิกฤต

20 ก.พ. 2565 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 22:54 น.
743

สศช. ยอมรับการออกพ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับใหม่ มาสู้กับวิกฤตโควิด ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็น หลังจากเงินก้อนเดิมยังเหลือ เชื่อยังประคองสถานการณ์ต่อไปได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินก้อนใหม่ เพราะปัจจุบันวงเงินภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเพียงพอที่จะสถานการณ์ต่อไปได้

 

ล่าสุดจากการตรวสอบกรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม มีวงเงินคงเหลือ 97,134.77 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดกรอบวงเงินนี้ได้ผ่านการรับทราบจากที่ประชุมครม.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ตอนนี้ยังไม่มีการการออกพ.ร.ก.มาเพิ่มเติม เพราะเท่าที่คุยกันกับทางหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. และสำนักงบประมาณ ก็มองว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจเริ่มพิกอัพขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้น ถ้าการระบาดของโควิดไม่รุนแรง ไม่มีปิดเมือง หรือปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การกู้เงินมาอีกก้อนก็ยังไม่มีความจำเป็น"

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าวงเงินภายใต้พ.ร.ก.ดังกล่าว จะเหลืออยู่ค่อนข้างจำกัด โดยเลขาธิการ สศช. ยอมรับว่า ในส่วนของการบริหารเงินที่เหลือภายใต้กฎหมายนี้ จะใช้สำหรับการประคับประคองสถานการณ์เป็นส่วนใหญ่ และต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง

 

โดยจะต้องใช้ในโครงการที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งก็คงต้องกันเอาไว้เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

ขณะที่มาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในระยะสั้นด้วยมาตรการที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงช่วยดูแลเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพไปได้ ส่วนระยะต่อไป คงเน้นไปที่การฟื้นฟูเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนด้วยการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้ามาย ควบคู่การลงทุนของหน่วยงานรัฐและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยให้ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ต่อไป

 

สำหรับการใช้เงินกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุดในการประชุมครม.วันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ได้อนุมัติโครงการเพิ่มเติมไปหลายโครงการ เช่น โครงการในส่วนของจัดหาครุภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง(ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง) ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเป็นหลักจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม  5,731 ล้านบาท 

 

รวมทั้งโครงการบริหารจัดการนำส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษระดับพื้นฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จำนวน 5 เดือน กรอบวงเงิน 37.5 ล้านบาท