แม้อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งไทยที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเห็นการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งจากการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ ในประเทศไทยและมาเลเซียของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์
การเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges) เจ้าของห้างหรู 18 สาขาในยุโรปของเจ้าสัวทศ จิราธิวัฒน์ รวมไปถึงการประกาศเดินหน้าลงทุนค้าปลีกเต็มสูบของเจ้าสัวคาราบาว “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ยังไม่นับรวมการขยับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลของบรรดายักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มสยามพิวรรธน์และเดอะ มอลล์ กรุ๊ป
การขยับตัวใหญ่ของ 3 เจ้าสัว ทำให้ “แลนด์สเคป” ของค้าปลีกในปี 2565 ถูกจับตามองอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
แม็คโคร-โลตัสซินเนอยีรุกไทย-เทศ
หลังจากที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ นำทัพเครือซีพีเข้าซื้อกิจการ “เทสโก้” ในไทยและมาเลเซียที่มีมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท ทำให้ได้สิทธิ์ในการครอบครอง “เทสโก้ โลตัส” เกือบ 2,000 สาขาในเมืองไทย ก่อนจะปรับโฉมใหม่ในชื่อ “โลตัส” (Lotus’s) ภาพของโลตัสเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ “ซีพี” ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในปลายเดือนสิงหาคม 2564 ด้วยการโอนกิจการโลตัส ที่มีมูลค่ากว่า 2.17 แสนล้านบาท ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ “สยามแม็คโคร” (Makro)
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแม็คโคร รวมทั้งการเดินเกมในระยะยาว แต่อีกมุมหนึ่งการลดความเสี่ยงที่กลุ่มซีพี โดยเฉพาะ “ซีพี ออลล์” ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ต้องแบกรับหนี้ก้อนโตจากการเข้าซื้อกิจการในปีก่อน ขณะเดียวกันก็ถูกพิษของโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของเซเว่นฯ พลาดเป้าไปมากโข สวนทางกับ “แม็คโคร” ยังคงมีรายได้และกำไรที่เป็นบวก
ดีลการโอนกิจการควบรวมกันจึงเกิดขึ้น พร้อมกับการที่แม็คโครสามารถขายหุ้นระดมทุนได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินก้อนนี้จะถูกนำไปลงทุนทั้งในส่วนของแม็คโครและโลตัส โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ภูมิภาคเอเชีย” ทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดย “แม็คโคร” จะเป็นหัวหอกเจาะกลุ่มผู้ประกอบการในรูปแบบ B2B ส่วน “โลตัส” จะนำทัพทะลวงเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป หรือ B2C ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆที่มี โดยทั้งการขยายสาขาในฟอร์แมทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต
รวมไปถึงการจับมือกันในกลุ่มค้าปลีกของเครือซีพี ในด้านการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้า รวมถึงด้านการตลาด ที่แม้จะเพิ่งเริ่มต้นแต่ภาพความร่วมมือในปีหน้าจะเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น และทำให้แลนด์สเคปของค้าปลีกเปลี่ยนไป
ซีเจฯ-ถูกดีฯ ปักหมุดยึดไทย
โดยเฉพาะแลนด์สเคปค้าปลีกในภูธร ที่ส่งส่อเค้าเดือด เมื่อ “เจ้าสัวเสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่อคาราบาวแดง ประกาศสปีดการลงทุนขยายสาขาร้านค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ ก่อนที่จะเจาะลงในระดับอำเภอ ตำบล โดยใช้ 2 แบรนด์หลักอย่าง “ซีเจ มอร์” และ “ถูกดี มีมาตรฐาน”
ด้วยลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในซีเจ มอร์กว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับขยายสาขาให้ได้ 1,700 สาขาจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 700 สาขา และอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายสาขาร้านถูกดี มีมาตรฐาน ให้ได้ 3 หมื่นสาขาในปี 2565 และ 5 หมื่นสาขาในปี 2566 โดยจะเน้นดึงร้านโชห่วย ค้าปลีกดั้งเดิมให้พลิกโฉม นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้
อนาคตร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะไม่ใช่เป็นเพียง Point of Sale แต่จะเป็น King of Offline จากหน้าร้านที่เปิดขายของ จะกลายเป็นจุดให้บริการ Point of Service ที่เป็นมากกว่ารีเทล เพราะสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายผ่านบริการต่างๆ ที่เข้ามา เช่น บริการสินเชื่อ ฯลฯ ซึ่งที่สุดแล้วยังสามารถต่อยอดเป็น Point of Everything ที่มีทั้งสินค้าและบริการ ข้อมูล (Big Data) ที่สามารถนำไปใช้และให้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้า บริการ รวมถึงการตลาดให้กับคู่ค้าพันธมิตรอีกด้วย
จากร้านค้า 5 หมื่นร้านผนวกลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1 พันรายต่อวัน แต่ละเดือน แต่ละปี จะมีลูกค้าจำนวนมหาศาลที่เข้ามาใช้บริการ และทำให้ซีเจฯ สามารถเข้าถึงพฤติกรรมลูกค้า นำมาต่อยอดให้กับกลุ่มธุรกิจอื่น รวมถึงคู่ค้าอื่นๆ สร้างซัพพลายเชนที่แข็งแรงทั้งในภาคการผลิต โลจิสติกส์ ส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
การมุ่งสร้างอาณาจักรผ่าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ที่วางเป้าถึง 5 หมื่นสาขา แน่นอนว่าจะเป็นการฟาดฟันกันดุเดือด เพราะต้องชิงฐานลูกค้าสำคัญจาก “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่วันนี้ยังคงเดินหน้าขยายสาขาและคาดว่าจะถึง 1.5 หมื่นสาขาในอีกไม่นาน
ฟากหนึ่งใช้พลังความเป็นเจ้าของและพลังของชุมชนเป็นหัวหอกในการแข่งขัน ส่วนอีกฟากใช้พลังการตลาดผนวกต้นทุนเป็นฮีโร่ ต้องจับตาว่าที่สุดแล้วใครจะครองตลาดนี้
กลุ่มเซ็นทรัลเชื่อมค้าปลีกโลก
ขณะที่แนวนโยบายของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในทุกๆ รูปแบบ ทั้งการลงทุนด้วยตนเอง, การเข้าซื้อกิจการ (M&A), การร่วมทุน (Joint Venture) และการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Alliance) ซึ่งแต่ละปีแม้จะวางงบประมาณไว้กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่หากมี “โอกาส” เปิดกว้าง ก็พร้อมเทกระเป๋าใส่ทันที
เฉกเช่นเดียวกับกรณีล่าสุด การเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges) เจ้าของห้างหรู 18 แห่ง ทั้งห้างเซลฟริดเจส (Selfridges) บนถนนออกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน, แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ, ห้างดี แบนคอร์ฟ (de Bijenkorf) ประเทศ เนเธอร์แลนด์, ห้างบราวน์ โทมัส (Brown Thomas) และ อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.8 แสนล้านบาทถือเป็นดีลใหญ่สุดที่กลุ่มเซ็นทรัลดำเนินการมา
แน่นอนว่า “เจ้าสัวทศ จิราธิวัฒน์” วางให้ยุโรปเป็น “บ้าน” แห่งใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล การสร้างบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายตลาด สร้างรายได้ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่เป็นนักช้อปในยุโรปเท่านั้น เพราะกว่าครึ่งของนักช้อปที่มาเดินห้างยุโรปเหล่านี้เป็นคนเอเชีย อนาคตการซินเนอยี สร้างการตลาด โอกาสการขายที่เชื่อมโยงกันนอกจากจะเชื่อมกันระหว่างห้างในยุโรปด้วยกันแล้ว ยังมีโอกาสเชื่อมโยงกับห้างในไทยได้อีกด้วย
ความแข็งแรงของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีห้างหรูมากที่สุดในไทย และอีก 35 เมืองสำคัญใน 8 ประเทศในยุโรป น่าจะตอบได้ว่าการต่อกรกับกลุ่มเซ็นทรัลคงเป็นได้ยาก โอกาสของ “ค้าปลีก” ในเมืองไทยที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ทำให้กลุ่มทุนเริ่มมองหาโอกาสการขยายในต่างแดนเช่น สยามพิวรรธน์กับการขยายร้านค้าปลีกในมาเลเซีย ซีพีออลล์กับการเปิดแฟรนไชส์ร้านเซเว่นฯ ในกัมพูชา รวมถึงแม็คโคร ที่วางแผนขยายอาณาจักรจากอินเดีย สู่ประเทศอื่นๆ
แลนด์สเคปค้าปลีกจะเปลี่ยน แปลงไปอย่างไรยังต้องจับตามอง3 เจ้าสัวใหญ่ผู้กุมชะตาต่อไป
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,745 วันที่ 2 - 5 มกราคม พ.ศ. 2565