คัมภีร์ค้าปลีก “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เจ้าพ่อคาราบาวแดง “กินแบ่ง ไม่กินรวบ”

23 ธ.ค. 2564 | 06:59 น.
2.4 k

แม้ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” จะได้ฉายาว่า “เจ้าพ่อคาราบาวแดง” จากการแจ้งเกิด “คาราบาวแดง” ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 แต่ในวงการค้าปลีกเมืองไทย ถือว่ายังเป็น “น้องใหม่” ที่อาจหาญต่อกรยักษ์ใหญ่ที่ผงาดรอบตัว

แต่วันนี้เขาพิสูจน์ให้โลกได้รับรู้ว่า แม้จะ “ใหม่” แต่ยัง “เก๋า” ด้วยแนวคิดที่แตกต่าง “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” ผนวกความกล้าในการเปลี่ยนแปลง (Change) ช่วงเวลาเพียง 5 ปี ก็ผลักดันให้บิสิเนสโมเดล อย่าง “ซีเจ มอร์” และ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ยืนหยัดได้อย่างแข็งแรง

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่แนะคัมภีร์การดำเนินธุรกิจค้าปลีกให้แข็งแกร่งและยืนหยัดต่อสู้แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน ในการบรรยายพิเศษให้กับผู้บริหารระดับ CEO ในหลักสูตร Digital Transformation for CEO รุ่นที่ 3 หรือ DTC#3 จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC

เสถียร เศรษฐสิทธิ์

“เสถียร” บอกว่า หลังเข้าซื้อกิจการซีเจ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ร้านค้าปลีกรายหนึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะต้องการช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจ ข้อเท็จจริงคือ 3 ปีแรกไม่เคยเข้าไปดูเลย ให้เจ้าของเดิมดำเนินการเอง จนเมื่อเขาทำต่อไม่ได้ จึงค่อยๆ เข้าไปเรียนรู้ เรียกว่าเริ่มต้น ก.ไก่ ข.ไข่ ว่าธุรกิจค้าปลีกทำอย่างไรบ้าง

 

โดยใน 2 ปีแรก เมื่อรวมกับ 3 ปีก่อนหน้า เท่ากับว่า 5 ปีที่เข้าไปซื้อกิจการ ไม่ได้มีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะต้องยอมรับว่าช่วงเวลานั้นไม่รู้จะหาฟอร์แมทอย่างไร แต่เมื่อได้ฟอร์แมทที่เหมาะสม เราก็เริ่มขยายสาขาจากเริ่มต้นที่มีอยู่กว่า 200 สาขา ในวันนี้มีรวมกว่า 700 สาขาและในปี 2565 ตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มอีก 250 สาขา พร้อมกับปรับเปลี่ยนโมเดลจากซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น“ซีเจ มอร์”

ซีเจ มอร์

“เสถียร” ให้เหตุผลว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาร้านค้าปลีกอื่นมียอดขายลดลง โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยคุกคามอย่าง “โควิด-19” ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสินค้าใกล้บ้าน เลือกใช้บริการร้านที่มีสินค้าครบเน้นสะดวก ประหยัด ซื้อสินค้าที่คุ้มค่า คุ้มราคา ส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีการเติบโต 13% สวนทางกับไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอนวีเนียนสโตร์ และดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ที่เติบโตติดลบ

 

ขณะที่การผลักดันให้ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” เติบโตไปข้างหน้าต้องมีรูปแบบที่แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ที่ “ซีเจ มอร์” จึงมีทั้งมุมความงามจาก “นายน์ บิวตี้” และร้านกาแฟจาก “บาว คาเฟ่” รวมถึงร้านค้าอื่นๆ และฟู้ดคอร์ท ที่จะมาช่วยดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่องทั้งวัน ภายใต้แนวคิด “สินค้าดี ราคาถูก ของครบ ใกล้บ้าน”

 

“ซีเจ มอร์ จะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทิศทางในอนาคตที่ว่า ธุรกิจในอนาคตจะต้องเป็นธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกัน ร่วมมือกันเพื่อเดินไปข้างหน้าและเติบใหญ่ด้วยกัน”

 

“เสถียร” บอกว่า อีกโมเดลหนึ่งที่เขาทุ่มเทมากคือ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ซึ่งเริ่มศึกษาตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยทดลองเปิดร้านเอง 40-50 สาขา โดยมาจากสมมติฐานที่ว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง จะอยู่ได้ที่ตู้แช่ ในร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ แต่โชห่วยเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต ไม่มีพลัง ไม่สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานได้

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน

แต่หากมองให้ดีจะเห็นว่า“โชห่วย” มีจุดแข็งคือ มีร้านค้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าเช่า มีฐานลูกค้าเดิม และสำคัญคือ มีพลังความเป็นเจ้าของ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาผนวกกับจุดแข็งของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ จากจุดเริ่มต้นวันนี้มีร้านถูกดีฯ กว่า 2,200 ร้าน และอีก 2 สัปดาห์จะเปิดอีก 250 ร้าน และมีร้านถูกดีฯ รอเปิดอีก 2,500 ร้าน ขณะที่ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดเพิ่มเป็น 2 หมื่นร้าน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นร้านในปี 2566 และ 5 หมื่นร้านค้าในปี 2567

 

จากเป้าหมายที่จะให้ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็น King of Offline จากเริ่มต้นเป็น Point of Sale วันนี้กำลังก้าวขึ้นเป็น Point of Service เมื่อมีสถาบันต่างๆ เข้ามาติดต่อร่วมเป็นพันธมิตร ทำให้เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะก้าวขึ้นเป็น Point of Everything และค่อยๆพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างฟิสิกคัล สโตร์และดิจิทัลแพลตฟอร์ม เชื่อมร้อยธุรกิจต่างๆ ในประเทศเข้าด้วยกัน

 

“ผมหวังว่าในอนาคตธุรกิจของเราจะเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันในประเทศไทย และเราทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้ปรัชญาว่า กินแบ่ง ไม่กินรวบ”

 

สุดท้าย “เสถียร” บอกว่า ความท้าทายยังรออยู่ข้างหน้าคือ การผลักดันธุรกิจค้าปลีกก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมกับการสยายปีกกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์ เพื่อให้อาณาจักรนี้มีรายได้เข้าสู่หลัก “แสนล้าน” ภายในปี 2566 จากวันนี้ที่มีรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท