เมื่ออียู-สหรัฐฯขยับ “ลดโลกร้อน”ส่งออกไทย 1.7 ล้านล้านก็สะเทือน

10 ต.ค. 2564 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2564 | 16:48 น.
2.6 k

เมื่ออียู-สหรัฐฯ หัวขบวนโลกขยับลดโลกร้อน อีกมุมหนึ่งจะส่งผลการค้าโลกพลิกโฉมหน้า เพราะแต่ละประเทศจะออกระเบียบกฎกติกาการค้าให้สอดรับกัน แน่นอนว่าเมื่อ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทยออกกฎกติกาใหม่ ภาคการส่งออกไทยก็จะสะเทือนตามอย่างแน่นอน

 

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือความตกลงลดโลกร้อน ของ 196 ประเทศ คือความพยายามของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายท้าทายคือการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือหากทำได้จะพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้ ขณะที่จะมีการทบทวนการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก ๆ 5 ปี (หลังบรรลุความตกลงในปี 2015) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความพยายามมากยิ่งขึ้น

 

ขณะเดียวกันความตกลงลดโลกร้อนของแต่ละประเทศ /กลุ่มประเทศ ยังนำมาผูกโยงกับการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปรับตัว ไม่เช่นนั้นอาจได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลานับจากนี้ไป

 

เมื่ออียู-สหรัฐฯขยับ “ลดโลกร้อน”ส่งออกไทย 1.7 ล้านล้านก็สะเทือน

ลดโลกร้อน มหาอำนาจทำอะไรกันบ้าง

ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (อียู) หัวขบวนลดโลกร้อน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2021 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนนโยบาย “Fit for 55 Package” เพื่อเป็นกรอบการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายด้านสภาพอากาศ พลังงาน การใช้ที่ดิน การขนส่ง และภาษีของอียู รวมถึงการปรับอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอน ภายใต้ระบบ EU ETS (European Union Emission Trading System) และการจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประเทศที่ 3 ได้แก่

 

  • มาตรการห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในปี ค.ศ. 2035 ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วน อาทิ แบตเตอรี่ อาจต้องเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและ/หรือรถยนต์ พลังงานทางเลือกอื่นๆ ทดแทน
  • มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (CBAM) ซึ่งเป็นการขยายระบบ EU ETS ให้บังคับใช้กับสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า

โดยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู

-ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (CBAM certificates) เพื่อเป็นการจ่ายธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซฯ โดยราคาของใบแสดงสิทธิจะคำนวณจากราคาประมูลเฉลี่ยรายสัปดาห์ของ EU ETS allowances (หน่วย: ยูโร/การปล่อย CO2 1 ตัน)

 

-ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ระหว่าง 1 ม.ค. 2023–31ธ.ค. 2025 อียูจะอนุญาตให้ผู้นำเข้ารายงาน ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM แบบเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2026 (พ.ศ.2569) เป็นต้นไป

 

- ผู้นำเข้าสินค้าไปจำหน่ายในตลาดอียูจะต้องทำรายงานประจำปีแจ้งจำนวนสินค้าที่นำเข้า และปริมาณการปล่อย คาร์บอนของสินค้าดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา และต้องทำการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนด้วย CBAM certificates นอกจากนี้มี

 

เมื่ออียู-สหรัฐฯขยับ “ลดโลกร้อน”ส่งออกไทย 1.7 ล้านล้านก็สะเทือน

 

  • การติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label/Carbon Footprint Label) ซึ่งแสดงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก กระบวนการผลิตหรือตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ซึ่งทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ที่ ต้องการเลือกซื้อนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด

 

  • ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste, Electrical and Electronic Equipment : WEEE) มีจุดประสงค์เพื่อต้องการหาผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะที่เกิดจาก เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สิ้นสุดอายุการใช้งาน โดยภายใต้ระเบียบ WEEE ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ส่งออก จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย การรับผิดชอบอาจมีลักษณะของการนำกลับประเทศต้นทางเพื่อนำไปทำลาย หรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ดำเนินการ จัดการขยะในประเทศที่นำเข้าสินค้า

 

เมื่ออียู-สหรัฐฯขยับ “ลดโลกร้อน”ส่งออกไทย 1.7 ล้านล้านก็สะเทือน

 

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เฉพาะเรื่อง CBAM ของอียูที่จะมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ เบื้องต้นผู้นำเข้าจะเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซของสินค้านำเข้า ซึ่งจะเป็นอัตราเท่าใดนั้นยังไม่ชัดเจนเพราะยังไม่ลงลึกในรายละเอียด แต่ภาระภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บผู้นำเข้าก็อาจผลักภาระมาให้ผู้ส่งออก รวมถึงผู้บริโภคปลายทาง ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

ขณะเดียวกันอียูส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน จากที่เวลานี้ยังเป็นมาตรการสมัครใจ แต่อนาคตคาดจะบังคับใช้แน่นอน ประเมินเบื้องต้นเฉพาะเรื่องฉลากคาร์บอน(คาร์บอนฟุตพริ้นท์)รวมถึงมาตรการ CBAM จะสร้างภาระต้นทุนให้ผู้ผลิตส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%  จากผู้ประกอบการจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างการผลิต การเตรียมพร้อมบุคลากร และค่าตรวจประเมินและรักษาระบบ หากรายใดไม่ปรับตัวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอียูได้ (ปี 2563 ไทยส่งออกไปตลาดอียู 6.42 แสนล้านบาท)

 

ขณะที่สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน ที่นำสหรัฐฯกลับเข้าร่วมอนุสัญญาฯปารีสแล้ว(หลังถอนตัวออกไปสมัยโดนัลด์ ทรัมป์) ได้ประกาศจะจัดสรรงบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 61 ล้านล้านบาท)เพื่อภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด และจะสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด

 

ทั้งนี้นโยบายที่ได้ดำเนินไปแล้ว คือ ประกาศว่า รถยนต์ของรัฐบาล 650,000 คันจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) ที่ผลิตในสหรัฐทั้งหมด (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ค.2563 รัฐบาลสหรัฐมีรถไฟฟ้า 3,125 คัน)โดยคาดว่า หากจะดำเนินการตามนโยบายข้อนี้ รัฐบาลสหรัฐฯต้องลงทุนราว 20,000 ล้านดอลลาร์

 

นอกจากนี้สหรัฐประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเป็นเศรษฐกิจพลังงานสะอาด 100% ในปี ค.ศ.2050 (2593) รวมถึงมีแนวโน้มจะบังคับให้สินค้าจากทั่วโลกที่ส่งออกไปสหรัฐฯต้องติดฉลากคาร์บอนเพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งจากนโยบายที่สำคัญของไบเดนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อน จะส่งผลกระทบการค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน(ปี 2563 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 1.06 ล้านล้านบาท

 

สอดคล้องกับที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ออกมาระบุว่า การลดโลกร้อนโดยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นทิศทางของโลกที่ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่อีกด้านจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เครื่องจักร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งรายใหญ่ไม่น่าห่วง เพราะมีทุนและมีความสามารถ แต่ห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดเงินทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิต ขอให้ภาครัฐหรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีได้เข้ามาช่วยเหลือ

 

ทั้งนี้ไทยมีแผนเจรจาความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับอียู หากในอนาคตสามารถบรรลุความตกลงไทยจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและแต้มต่อด้านต่าง ๆ ส่งออกไปตลาดอียูได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตส่งออกของไทยก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์ที่อียูกำหนดโดยเฉพาะประเด็นด้นสิ่งแวดล้อม หากไม่สามารถทำได้ก็อาจกลายเป็นมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs)ได้ 

 

จะเห็นได้ว่า แค่ 2 ตลาดใหญ่ “อียู-สหรัฐฯ” ออกมาประกาศนโยบายและทิศทางของประเทศเพื่อลดโลกร้อน หรือที่หลายคนเรียกว่า “คาร์บอนวอร์” แม้ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง การส่งออกของไทยไปตลาดอียูและสหรัฐฯที่มีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาทก็เริ่มสั่นสะเทือน หากไม่เร่งปรับตัวเสียแต่วันนี้ แรงสั่นสะเทือนก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคตอันใกล้นี้