ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (12) คาร์บอนเครดิต

03 ต.ค. 2564 | 09:00 น.

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (12) คาร์บอนเครดิต : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,719 หน้า 5 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2564

บทความในตอนนี้และอีกหลายตอนต่อจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่อง Carbon Credits ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเองต้องออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้แต่เริ่มต้นจากที่ไม่รู้เลยต้องไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติมและด้วยนิสัยที่อ่านแล้วชอบสรุป เพราะกลัวลืมจึงได้โอกาสเอามาแบ่งปันทุกท่านคราวนี้ก็เช่นกัน ไปอ่านหนังสือชื่อ Cap and Trade and Carbon Credits : An Introduction ของ Ugur Akinci (2009-2014) เลยพยายามสรุปแก่นเนื้อหามานำเสนอครับ

 

1. Cap and Trade คืออะไร

 

เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่โลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากจนเกินไปและทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการผลิตและใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นํ้ามัน เป็นต้น และในอดีตที่ผ่านมาเราก็ใช้พลังงานเหล่านี้กันอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า บริษัทใดที่มีกิจกรรมธุรกิจนั้นบนกระบวนการทำธุรกิจได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเท่าใด ดูเหมือนว่าเราจะทำได้แบบไม่มีขีดจำกัด เมื่อปัญหาโลกร้อนหรือ Greenhouse Effect เริ่มชัดเจนขึ้น ก็เริ่มคิดกันว่าจะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างไร เช่นการออกกฏหมายเพื่อจำกัด (Limit) ปริมาณ CO2 ที่บริษัทหรือธุรกิจจะปล่อยได้ (Allowed amount) 

 

คำถามก็คือว่าถ้าบริษัทบางแห่งโดยรวมปล่อย CO2 น้อยกว่า Allowed Amount คือทำได้ดีจะเกิดผลอะไรต่อไหมขณะเดียวกันบริษัทที่ปล่อย CO2 มาก กว่า Allowed Amount จะต้องทำอย่างไรต่อบ้าง คำศัพท์ของ Allowed Amount บางคนก็เรียกว่า “Carbon Emission Quota” ซึ่งเปรียบเสมือน “Right to Pollute” ดังนั้นบริษัทที่ปล่อย CO2 น้อยกว่าที่กำหนดก็จะคงเหลือ “Right to Pollute” บางส่วนซึ่งสามารถนำมาขายได้ใน Open Market (หากมี) ในขณะที่บริษัทที่ปล่อย CO2 มากกว่าที่กำหนดก็จะเป็นผู้ที่ต้องไปซื้อ “ Right to Pollute” นี้มาเพื่อมาชดเชย ส่วนที่ปล่อยเกินไป

 

Cap and Trade จึงเป็นกลไกที่สามารถถูกสร้างขึ้นโดยมีส่วนสำคัญแรกคือ Cap ที่ต้องมีการคำนวณและกำหนดว่าแต่ละธุรกิจจะปล่อย CO2 ได้เท่าใด และเมื่อครบระยะเวลาหนึ่งก็ต้องคอยตรวจสอบสถานะว่าได้ปล่อย CO2 จริง ไปเท่าใดพร้อมคำนวณส่วนต่างที่เกิดขึ้นเพื่อระบุว่าธุรกิจใดอยู่ในสถานะมี Right to Pollute ส่วนเกิน (ผู้ขาย) และธุรกิจ ใดอยู่ในสถานะ Right to Pollute ส่วนขาด (ผู้ซื้อ) จึงจะมาสู่ส่วนสำคัญที่ 2 คือ Trade โดยกำหนดให้มีตลาดคาร์บอน(Carbon Market) ให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกันเพื่อซื้อขาย Right to Pollute (Carbon Credits, Carbon Permits) เหล่านั้นได้

 

The Cap and Trade System กำเนิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่มีนาคม 2007 เมื่อมีตลาดเกิดขึ้นในช่วงแรกราคาของ Carbon Permits เหล่านี้ได้ทะยานสูงขึ้น 3 เท่าตัวในปีแรกๆ แต่สถานการณ์ความตกตํ่าของตลาด Cap and Trade นี้ได้เกิดขึ้นต่อมาในปี 2011 เมื่อเกิดการคัดค้านซึ่งส่งผลไปถึงการเมืองในทวีปยุโรป ทำให้ปริมาณการซื้อขาย Carbon Credits ลดลงใน European Energy Exchanges ที่สำคัญหลายแห่ง

 

อย่างไรก็ดี กระแส Global Warming ที่ยังเป็นปัญหาทำให้การส่งเสริมเรื่อง Cap and Trade ได้รับการพิจารณากลับมาอยู่ในจุดสนใจอีกครั้งในปัจจุบัน สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา บรรดา Giant Corporation ต่างก็หันมาสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้นบนภาวะโลกร้อน และผู้คนทุกวงการต่างเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ และภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการลดการปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนไปกว่านี้ในเวลาที่กำหนด 

 

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (12) คาร์บอนเครดิต

 

 

แนวคิดเกี่ยวกับ Cap and Trade แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นวิธีการช่วยควบคุมการปล่อย CO2 โดยให้บริษัทที่ปล่อย CO2 เกินได้มีทางออกแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า

 

1) การผลิตในโลกปัจจุบันกว่า 80% ยังคงใช้เทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาแม้ว่าจะเริ่มมีการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นก็ตามดังนั้นบริษัทที่ปล่อย CO2 ออกมาเกินแม้ว่าจะไปซื้อ Carbon Credits มาชดเชยก็ตาม แต่ก็ยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนออกมาอยู่ดี ไม่ได้ส่งเสริมให้หยุดการปล่อย CO2 ด้วยการเลิกใช้เทคโนโลยีแบบเดิมที่มีปัญหา

 

2) หากมีการส่งเสริมให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดจริง ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจนทำให้ Consumer price สูงตามเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะนักการเมืองที่ไม่ได้เป็นหัวก้าวหน้าพอ ก็กลัวว่าจะกระทบฐานเสียงในระยะสั้นของตนได้

 

3) ประเด็นการกำหนด Caps ที่เหมาะสมของแต่ละบริษัท ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบและวิธีการคิดว่ามีความถูกต้อง เป็นธรรมหรือไม่อย่างไร

 

2. กฎหมายเกี่ยวกับ Cap and trade ในสหรัฐอเมริกา

 

สหรัฐอเมริกามีการออกกฏหมายที่เรียกว่า American Clean Energy and Security Act (ACES) ในปี 2009 หรือรู้จักกันในชื่อ “The Waxman-Markey Cap and Trade Bill” ซึ่งภายใต้กฎหมายนี้มีการนำ “a cap-and-trade system” มาใช้และกระทบถึงผู้เสียภาษีทุกคนในสหรัฐฯ

 

โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการกำหนดปริมาณ Upper Limit ที่ประเทศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงสุดต่อปีรวมทั้งการสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ Renewable Energy Standards มาตรฐานดังกล่าวนี้กระทบต่อบริษัทพลังงาน (Utility Companies) ที่ถูกกำหนดให้ 20% ของพลังงานที่ผลิตเพื่อตอบสนองตามความต้องการจะต้องมาจาก Renewable Source ภายในปี 2020 รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค

 

ในมิติการเมืองกฎหมาย Cap and Trade นี้กลายเป็นสมรภูมิที่เรียกว่า “Political Football” โดยพรรค Democrat เป็นฝ่ายสนับสนุนเต็มที่ แต่พรรค Republican คัดค้านอย่างดุเดือดในเรื่องดังกล่าว ทำให้การขยับเขยื้อนในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ในทศวรรษที่แล้วไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก

 

มีการนำเสนอเรื่อง “Carbon Tax” ออกมาเป็นทางเลือกทดแทน A  Cap and Trade System Carbon Tax นี้คือภาษีที่คิดบนการเกิดคาร์บอน จากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน นํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งผู้ที่ใช้เยอะจะทำให้เกิด CO2 มาก ก็จะถูกคิด Carbon Tax ในระดับที่สูงขึ้นซึ่งวิธีการนี้มีลักษณะเป็น Penalty มากกว่าเป็น Incentive เหมือนกรณี Cap and Trade แต่ข้อดีก็มีคือ หากธุรกิจหาวิธีลดการปล่อย CO2 ทำให้ปริมาณการปล่อยจริงลดลงก็จะเสียภาษีน้อยลงด้วย

 

การถกเถียงคือวิธีที่เหมาะสมในการลดการปล่อย CO2 ดำเนินมาจนถึง ปี 2011 ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดี Obama จากพรรค Democrat ซึ่งสนับ สนุนแนวทาง Cap and Trade กับอีกพรรค Republican ซึ่งต่อต้านเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม Cap and Trade System  ก็ยังอยู่รอดมาโดยในระดับมลรัฐ เช่น California ได้มีการกำหนดเกณฑ์เดียวกับ The green-house gas emission level ภายในปี 2020 ขึ้น

 

การเกิดขึ้นของ Carbon Credit Market แบบ Cap and Trade ที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างมากในยุโรปมากกว่าในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐไม่ได้เข้าร่วมลงนามใน The U.N. Kyoto Protocol ทำให้ไม่ได้ใช้มาตรฐาน U.N. Certification เหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งต้องมีการคำนวณปริมาณ CO2 ไม่ว่าจะมาจากโครงการ Energy Saving หรือโครงการลดการใช้พลังงานฟอสซิล โครงการผลิตและใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

 

ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยน Carbon Credits ในทวีปยุโรปเป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่ามีข้อมูลสรุปว่าตลาด Carbon Credits  ใน London ขณะนั้นมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 60% ของตลาดรวม

 

ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายในเรื่องนี้ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ดีในมิติของนักลงทุน สหรัฐฯ มีฐานนักลงทุนใหญ่ซึ่งมีความคึกคัก เกิดนักลงทุนประเภท Hedge Fund ด้านนี้ขึ้นมามากใน Chicago Climate Exchange เกิดนักลงทุนที่เป็น Member ในตลาดไม่น้อยกว่า 200 คน