เบื้องลึก ‘อาทิตย์’ ยกระดับ SCBx หุ้นเทคโนโลยีสร้างรายได้

29 ก.ย. 2564 | 15:49 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 22:20 น.
702

Exclusive: “อาทิตย์ นันทวิทยา” ซีอีโอ กลุ่มธนาคาร ไทยพาณิชย์ เผยเบื้องหลังความสำเร็จของการผลักดันให้ธนาคารเก่าแก่ อายุ 116 ปี ก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ชี้ต้องพูดซ้ำๆ หลายๆครั้งให้บอร์ดมองไปในทิศทางเดียวกัน

การขยายตัวของแพลตฟอร์มระดับโลกที่กำลังบุกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจธนาคารดั้งเดิม ที่เป็นเพียงตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมต้องปรับตัวให้กับบริบทของโลกใหม่ จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งในวงการธนาคารเอง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ฟินเทค” ที่เป็นเรื่องของ “แพลตฟอร์ม”  และ “สตาร์ตอัพ” 

 

อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญ และเบื้องหลังความสำเร็จในการผลักดันให้ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของไทยในนาม “ธนาคารสยามกัมมาจล” ซึ่งปีนี้มีอายุครบ 116 ปี สามารถยกระดับเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ในนาม SCBX ที่จะเป็นยานแม่ สร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่หรือ มาร์เก็ตแคปแตะ 1 ล้านล้านบาทในปี 2568

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธนาคาร ไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการ SCB Reimagined ใช้เวลา 2 ปีกว่าในการเตรียมงานและเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนได้รับความเห็นชอบเบื้องต้น โดยเริ่มนำเสนอบอร์ดเมื่อปลายปี 2562 แต่ยังไม่ทันลงมือ ก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธนาคาร ไทยพาณิชย์

“ตอนนั้นชุลมุนไปครึ่งปี แต่มาดีลงานต่อในปลายปี 2563 ซึ่งมีช่วง 7-8 เดือนที่ต้องเบรกโครงการนี้ เพื่อมุ่งไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือเป็นการซุ่มเงียบ เพราะทุกคนคิดว่า เราพะวักพะวงอยู่กับการช่วยเหลือดูแลลูกค้า ซึ่งการเร่งช่วยเหลือลูกค้าได้เร็ว จึงมีเวลามาทำเรื่องนี้ต่อในช่วงปลายปีที่แล้ว” นายอาทิตย์ กล่าว

 

ทั้งนี้ธุรกิจบนโลกใหม่ที่เป็น “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” สามารถเกิดได้ในทุก ecosystem และทุกอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย อาหาร ทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” จะสร้างเน็ตเวิร์คเอฟแฟกซ์ เพราะมีพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อเป็นอย่างนี้ผู้เล่นหน้าใหม่จะใช้เกมนี้

  เบื้องลึก ‘อาทิตย์’ ยกระดับ SCBx   หุ้นเทคโนโลยีสร้างรายได้

“ธุรกิจที่อยู่ในโลกใหม่ ที่เป็น digital platform จะสร้าง network effect เพื่อให้ตัวเองเป็น “คนชนะได้ทุกอย่าง” เหมือนที่เด็กๆ ทำไมเราเรียกผงซักฟอกว่า แฟ๊บ เรียกบริการขนส่งว่า แกร๊ป ดังนั้นวิธีสร้าง platform เพื่อให้เกิด network effect ทำให้เกิด scale เพื่อพาตัวเองไปเป็นผู้ชนะ ทุกคนอยากอยู่ในเน็ตเวิร์คเพราะมีพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รีบเข้ามา และไม่เข้ามาด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างไม่มีทาง” นายอาทิตย์ระบุ

ดังน้้นแนวทางเปิดดีลหลายดีลจึงอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม การที่ไทยพาณิชย์มีนักพัฒนาเทคโนโลยีหลายทีม อย่าง พับลิซิส เซเปี้ยนท์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่ทำข้อตกลงถือหุ้นเทคโนโลยีขั้นสูงสุด จะส่งมาจากลอนดอนและส่งคีย์แมนเข้ามาเป็น CCO ใน SCB TechX ที่มีคุณตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะเดียวกัน ยังมีทีมพัฒนาเป็นกองทัพในไทย 600 คนและอีก 600 คนในอินเดีย

 

การผลักดันการเติบโตจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ด้วยนักพัฒนาเทคโนโลยีหลายทีมนี้ ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยประสิทธิภาพของทีม Data X ซึ่งตั้งใจเป็นเหมือนบริการการวิเคราะห์  เป็นศูนย์กลางในการรวมรวมและกระจายข้อมูลของกลุ่ม SCB  เพิ่มขีดความสามารถในบริษัทที่จะเกิดใหม่ๆ เวลาทำ Data Analytics จะมีข้อมูลภายในที่เกิดพลัง

 

ถ้ามีฐานข้อมูลลูกค้าเตรียมไว้ มูลค่าจะมหาศาล ทุกคนคาดไม่ถึง จะเป็นผู้เล่นในเมืองไทยที่ไม่มีใครสู้ได้ เพราะเป็นอาวุธที่มองไม่ออกว่า มาอย่างไร ด้วยต้นทุน และด้วยเวลาที่สั้น ภายใต้ SCBX เราจะเติบโตแบบยกกำลังหรือ ก้าวกระโดด

เบื้องลึก ‘อาทิตย์’ ยกระดับ SCBx   หุ้นเทคโนโลยีสร้างรายได้

สำหรับพื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก เป้าหมายอยู่ที่ตลาดภูมิภาค คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสนามรบจริง ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการของไทยทำเรื่องแพลตฟอร์มอยู่ในมิตินั้นเลยสักคน

 

ส่วนของพนักงาน SCBX ในหลักการขึ้นกับบริษัทว่า ต้องการใช้ความสามารถพิเศษแบบไหน แต่จะใช้คนน้อย โดยซีอีโอทุกคนจะเป็น “เถ้าแก่” สร้างแรงจูงใจระยะยาว เพราะฉะนั้นทุกคนจะทำหน้าที่ดูแลรายละเอียดทั้งหมด โดยหลังแยกธุรกิจออกมาแล้ว จากคนที่เคยอยู่แบงก์ พอเป็นเถ้าแก่ เขาจะสร้างมูลค่าขึ้นมา ซึ่งเรื่องพนักงานจะเป็นอีกยุทธศาสตร์ของเรา ซึ่งการปรับรอบนี้ เรามีเถ้าแก่เพิ่มมา 15-16 คน

 

นายอาทิตย์ ย้ำว่า ภายใต้โครงสร้าง SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ที่ยังคงความขลังของแบงก์ใบโพธิ์ เรื่องทุนมีเกินพอ จะเน้นทำเรื่องกระจาย ซึ่งใช้ทุนน้อย ไม่เน้นปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ จำกัดให้อยู่ในระดับที่พอดี ให้มีจุดโฟกัส มีความต่อเนื่องของการรักษาการทำกำไร

 

“ส่วนที่เป็นบู๊ลิ้ม จะอยู่ในส่วนที่จะสร้างการเติบโตหลายรูปแบบ หลายกระบวนท่า หลักการผมจะให้ซีอีโอเป็นคนจัดการ รายงานตรงต่อบอร์ดของเขาเอง ซึ่งจะมีกรรมการของเราไปเป็นบอร์ด ที่เหลือซีอีโอลุยเอง และผมจะประชุมกลุ่มซีอีโอแค่เดือนละครั้ง หลังจากนี้ตัวอื่นที่จะโตเสริมศักยภาพให้ SCB ที่ดีคือ ตระกูลเอ็กซ์ และที่จะทำให้เป็นระดับโลกก็มาจากมาร์เก็ตแคปที่จะเพิ่มขึ้น”นายอาทิตย์กล่าว

 

การดำเนินการเฟสแรก เรียกว่า ธุรกิจม้าเร็ว จะเป็นธุรกิจเห็นผลได้ในช่วง 3 ปี  สามารถออกเสนอขายหุ้น IPO ได้ในปีที่  3-5 เช่น บริษัท Card X, Auto X สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ(Title Loan Business) ส่วนใหญ่ตลาดอยู่ต่างจังหวัด เบื้องต้นจะเริ่มทำตลาด 2,000 สาขาในไตรมาส 1 ปี 2565

 

ส่วนเฟสที่ 2 จะเติบโตจากการขยายหรือสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น โรบินฮู้ด, ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และการลงทุน ไม่ว่า JV หรือ Venture Capital Fund เหล่านี่จะสร้างมูลค่าในเฟสต่อไปช่วง 4-5ปี เป็นต้นไป

 

“ผมรู้ว่านักลงทุนรอไม่ได้ จึงต้องเอาเฟสแรกชุดแรกที่เห็นผลไวเข้ามาก่อน อีกไม่น่าเกินเดือน ผมจะมีเวนเจอร์ใหม่ รายนี้น่าตื่นเต้นมากกว่าที่เปิดแล้ว” นายอาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564