จากผลการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 1/2568 ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2568 มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อให้บอร์ด สปสช. ได้รับทราบผลการดำเนินงาน
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสนอข้อมูลในที่ประชุมว่า โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ สิทธิบัตรทองเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครนั้นเป็นหนึ่งในนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 มีหน่วยบริการยื่นเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนรวม 14 โครงการ เป็นวงเงินรวม 15,765,750 บาท โดยทั้ง 14 โครงการ ของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการจาก 3 สังกัด เสนอโครงการ ประกอบด้วย
1. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 11 โครงการ วงเงิน 8,048,250 บาท
2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2 โครงการ วงเงิน 2,467,500 บาท
3. มูลนิธิเส้นด้าย 1 โครงการ วงเงิน 5,250,000 บาท
สำหรับโครงการดังกล่าว สปสช. มีเป้าหมายช่วยผู้ป่วยทุพพลภาพสิทธิบัตรทอง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักให้ได้รับบริการรถรับ-ส่งไปรับบริการซึ่งจากการขับเคลื่อนจะทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการจำนวน 15,440 คน รวม 45,045 เที่ยว โดยเฉลี่ยอัตราเที่ยวละ 350 บาท
นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ยังเห็นด้วยว่า โครงการดังล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพสิทธิบัตรทองที่มีบริการรับ-ส่งเพื่อไปรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ