อันตราย “นอนผิดเวลา” ทำนาฬิกาชีวิตเปลี่ยนจนเกิดโรค

04 ม.ค. 2568 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2568 | 09:53 น.

วงจรนาฬิกาชีวภาพสอดคล้องกับการนอนหลับ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนป่วย "โรคการนอนผิดเวลา" ชี้ควรนอนให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินที่ทำให้รู้สึกง่วง ช่วง 2 ทุ่ม-7 โมงเช้า

การหลับและการตื่นเป็นวงจรนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) หมายถึง ลักษณะทางชีววิทยาตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละคน ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด ระดับเมลาโทนิน อุณหภูมิในร่างกาย และแสงสว่าง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เมื่ออุณหภูมิในร่างกายต่ำลงจะหลั่งของเมลาโทนินมากขึ้น เมลาโทนินจะทำให้รู้สึกง่วง ในทางตรงกันข้ามหากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ระดับเมลาโทนินก็จะต่ำลงทำให้เริ่มจะตื่น

หากเมลาโทนินสูงจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และปกติเมลาโทนินจะเริ่มหลั่งมากขึ้นตั้งแต่ 2 ทุ่ม และจะหลั่งมากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ ตี 3 และเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนต่ำสุดในช่วง 7 โมงเช้า เมลาโทนินนั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของแสงสว่าง หากมีแสงสว่างมากจะทำให้หลั่งออกมาน้อย ในทางตรงกันข้ามหากมีแสงสว่างน้อยเมลาโทนินก็จะหลั่งออกมามาก

อายุส่งผลต่อการนอน

เมื่ออายุมากขึ้นจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นาฬิกาชีวภาพเริ่มเพี้ยนหรือเปลี่ยนไป วงจรการนอนหลับก็ย่อมเปลี่ยนตาม ผู้สูงอายุจะเริ่มมีอาการตื่นนอนกลางดึกบ่อยครั้งขึ้น นอนหลับในตอนกลางวันบ่อยขึ้นจนเกิดภาวะที่เรียกว่า “การนอนผิดเวลา” อยู่บ่อยครั้ง หรือ นอนก่อนเวลาอันควร โดยวงจรการนอนหลับจะเริ่มขยับเข้ามาเร็วกว่าปกติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกาย เวลาที่อุณหภูมิร่างกายเริ่มต่ำจะขยับเข้ามาเร็วกว่าปกติเมื่อเทียบกับตอนหนุ่มสาว ทำให้ง่วงเร็วขึ้น

ส่วนใหญ่อุณหภูมิร่างกายผู้สูงอายุจะเริ่มต่ำตอนประมาณ 1 – 2 ทุ่ม แล้วเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเข้านอนไปประมาณ 8 ชั่วโมง และจะสูงที่สุดเมื่อเวลาประมาณ ตี 3 ถึง ตี 4 ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมักเข้านอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นนอนมาเช้ากว่าปกติ ภาวะดังกล่าว เรียกว่า Advanced sleep phase syndrome (ASPS)

ในช่วงวัยกลางคนความชุกของโรค ASPS นั้นอยู่ที่ 1% แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ความชุกของโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก โดยขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่าเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์

การนอนหลับให้เพียงพอ

หากลองพิจารณาดูดีๆ จะพบว่า ความจริงแล้วปริมาณชั่วโมงของการนอนหลับของคนเรานั้นนับว่า “เพียงพอ” แต่ในบางครั้งมักพยายามหลับให้ดึกขึ้นเพื่อหวังว่าเราจะตื่นสายขึ้นกว่าเดิมได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นสภาวะของร่างกายเรายังคง “ดื้อ” หรือก็คือ “ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” อยู่เหมือนเดิม สุดท้ายก็ตื่นเวลาเดิม และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ระยะเวลาการนอนหลับก็สั้นกว่าเดิมอีกด้วย คราวนี้จะเริ่มรู้สึกว่านอนไม่พอ เริ่มง่วงในตอนกลางวัน บางทีนั่งทำงานหรือประชุมอยู่ กลับสัปหงกกลางที่ประชุม และบางคนจะเริ่มหงุดหงิด ไม่พอใจในชีวิตในที่สุด

วิธีรักษาภาวะการนอนผิดเวลา

  • ทำ “ไดอารี่การนอนหลับ (sleep diary)” ควรทำย้อนหลังไป 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าให้ดีที่สุดควรใส่เครื่องมือที่เรียกว่า “wrist actigraphy” ไว้ที่ข้อมือด้วย ประมาน 3- 7 หรือ

ตามจริงแล้วภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหากไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สำหรับบางคนที่ได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากจากวงจรการนอนดังกล่าว อาจมาพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษา ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะมีการประเมินอาการโดยรวมและทำการทดสอบ เพื่อวัดระดับเมลาโทนินในร่างกายและตรวจดูความผิดปกติของวงจรการนอนหลับ และรักษาแบบเน้นไปในทางที่ไม่ใช้ยาก่อนเป็นอันดับแรก 

โดยปรับเปลี่ยนและเสริมความแข็งแรงของวงจรการนอนหลับ ได้แก่  “Bright-light therapy” แต่ในบางคน หากมีการขาดเมลาโทนินร่วมด้วอาจให้ยาเพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกาย และการ Bright-light therapy ที่ดีที่สุดก็คือ “แสงอาทิตย์” ผู้ป่วยควรออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้างในช่วงบ่ายแก่ หรือ ช่วงเย็น ๆ วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อเลื่อนเวลาการนอนให้ไกลขึ้น ปกติแล้วการรับแสงจุดแรกจะเริ่มที่ตาก่อน ดังนั้น ในช่วงเวลานี้จึงไม่ควรสวมแว่นกันแดดตอนทำกิจกรรม แต่ให้สวมในช่วงเช้าและตอนกลางวันแทนเพื่อไม่ให้วงจรการนอนหลับเลื่อนเข้ามาใกล้อีก 

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการทำสิ่งที่เรียกว่า “Light box” ซึ่งผลิตแสงสว่างได้มากถึง 2500 lux  ซึ่งนับว่าช่วยได้มาก หากไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องนอนติดเตียงตลอด ที่สำคัญไม่แนะนำให้ใช้หลอดไฟปกติตามบ้าน เนื่องจากกำลังของแสงสว่างที่ผลิตออกมานั้นจะไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นประสาทรับรู้ของผู้สูงอายุ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวงจรการนอนได้

จะเห็นได้ว่า ปัญหาการนอนผิดเวลานั้น ในบางครั้งก็ส่งผลเสีย รบกวนชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว การมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาที่ถูกต้องจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับทุกคน
 

 

บทความจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล