"ดื่มไม่ขับ" เกิดอุบัติเหตุเจ็บ-เสียชีวิต โทษหนัก จำคุกสูงสุด 10 ปี

29 ธ.ค. 2567 | 20:05 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2567 | 20:11 น.

“ดื่มไม่ขับ” เตือนประชาชนที่ต้องขับขี่ยานพาหนะเดินทางกลับภูมิสำเนา หรือท่องเที่ยวในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดตามท้องถนน ย้ำโทษหนัก ทั้งจำ ทั้งปรับ

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงหยุดยาวในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประชาชนหลายๆ คนเลือกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อไปพักผ่อนและเยี่ยมญาติที่ไม่ได้พบเจอกันมานาน บางส่วนเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสังสรรค์กับเพื่อนหรือครอบครัว อาจมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่เดินทาง หรือดื่มตามร้านอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

เพราะหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเดินทางต่อ ทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลงได้ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเอง และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นำมาซึ่งการสูญเสียทรัพย์สิน บาดเจ็บและอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค

ทั้งนี้การดื่มแล้วขับมีโทษตามกฎหมาย โดยจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พักการใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แต่หากเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จะมีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

ด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนจะออกเดินทางในช่วงเทศกาลควรเตรียมความพร้อมของรถ และตรวจ เช็คสภาพของรถให้เรียบร้อย นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ มีสติ ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท มีน้ำใจบนท้องถนนให้แก่กัน

\"ดื่มไม่ขับ\" เกิดอุบัติเหตุเจ็บ-เสียชีวิต โทษหนัก จำคุกสูงสุด 10 ปี

ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างขับรถโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงตามมาได้ หากรู้สึกอ่อนเพลียควรหยุดพักในจุดพักรถก่อนออกเดินทางต่อ เน้นย้ำให้คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิด คอยดูแลเอาใจใส่กัน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางไปท่องเที่ยวปลอดภัยมากขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา ยา และสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165  หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่

โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน