สธ. เข้ม! ดื่มไม่ขับ ตั้งเป้าลด"ตาย-เจ็บ-พิการ"จากอุบัติเหตุตลอดปี 67

21 ธ.ค. 2566 | 15:20 น.

สธ.ประกาศนโยบาย 3 D "Drink  Don’t Drive" ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ รณรงค์ตลอดปี 67 หลังพบสถิติ "ดื่มแล้วขับ" ก่อคดีและอุบัติเหตุสูงสุดช่วงเทศกาล พร้อมมอบของขวัญแก้ง่วง 3 แสนชิ้นส่งคนไทยกลับบ้านปลอดภัยช่วงปีใหม่ 

21 ธันวาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ 3 D "Drink  Don’t Drive" ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ โดยระบุว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 (29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566) ที่ผ่านมา สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 2,437 ราย และ ผู้เสียชีวิต 317 ราย 

ที่น่าตกใจ คือ ในจำนวนคดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า 96 % หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุราจนถึงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2566) ก็เช่นเดียวกัน มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากถึง 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก

ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล เฉลี่ยปีละ 25,799 ราย เฉลี่ยวันละ 3,685 ราย และคาดการณ์ว่า ปีใหม่ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

สธ. เข้ม! ดื่มไม่ขับ ตั้งเป้าลด\"ตาย-เจ็บ-พิการ\"จากอุบัติเหตุตลอดปี 67

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีนับจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายรณรงค์ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ ลงให้ได้มากที่สุดเพื่อลดความสูญเสียบนท้องถนน

โดยกำหนดแคมเปญ 3 D คือ "Drink  Don’t Drive" ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ อาทิ การขับรถด้วยความเร็วไม่เหมาะสม การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งหมวกนิรภัย หรือเข็มขัดนิรภัย เป็นต้นและเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุตามนโยบาย "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ไปด้วยกัน  

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

"ในปีนี้เน้นย้ำให้ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาลให้มีการออกตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลให้บังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างจริงจัง

หากพบว่า มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี, ขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ประสานความร่วมมือและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว ร่วมกันสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ ประเมินสภาวะมึนเมา หากพบว่ามีการดื่มหรือมีอาการมึนเมาให้พักคอยจนกว่าจะอยู่ในสภาวะปกติก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ" นพ.ชลน่าน กล่าว               

นอกจากนี้ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมถุงของขวัญที่บรรจุ ยาอม ยาดม ยาหม่อง ที่จะช่วยแก้อาการง่วงนอนในขณะขับรถ จำนวน 3 แสนชิ้น เพื่อมอบให้กับผู้เดินทาง เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น ฯลฯ บริเวณด่านตรวจคัดกรองการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเส้นทางทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างปลอดภัย

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อม สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ทั้งในส่วนกลางและจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางเรือ

สธ. เข้ม! ดื่มไม่ขับ ตั้งเป้าลด\"ตาย-เจ็บ-พิการ\"จากอุบัติเหตุตลอดปี 67  

ทั้งยังให้มีการจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support : BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว และในกรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรที่อยู่เวรจากปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ให้มีการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้

รวมทั้งให้ทุกสถานพยาบาลประสานตำรวจท้องที่มาตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะๆ ป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม