ความคืบหน้าการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมอหิวาตกโรคที่ระบาดในเมืองชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมาซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายแดนไทย จ.ตาก นั้น ล่าสุดวันนี้ (24 ธันวาคม 2567) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยสถานการณ์ได้มอบหมายให้ตนพร้อมกับ นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากและผอ.โรงพยาบาลแม่สอด ลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-21 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยรวม 132 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 39 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นสัญชาติเมียนมา ส่วนในประเทศไทยล่าสุดพบผู้ป่วยอหิวาตกโรคเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 4 ราย เป็นชาวเมียนมา 2 ราย และคนไทย 2 ราย โดยตรวจพบเชื้อ Vibrio Cholerae O-1 Ogawa ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในเมียนมา
"จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในผู้ป่วยชาวเมียนมา 2 รายแรก พบว่าทั้งคู่ได้ซื้ออาหารจากร้านเดียวกัน เมื่อตรวจเชิงรุกด้วย Rectal Swab พบผลบวกในคนไทย 1 ราย ที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกันแต่ไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยชาวไทยอีก 1 ราย ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับ 3 คนแรก สันนิษฐานว่าน่าจะรับประทานอาหารที่นำมาจากเมียวดี" นพ.สุภโชค กล่าว
โรงพยาบาลแม่สอดได้เตรียมความพร้อมเรื่องการดูแลรักษา โดยแยกจัดบริการผู้ป่วยท้องเสียโดยเฉพาะทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จัดทำแผนรองรับกรณีมีผู้ป่วยท้องเสียรุนแรงจำนวนมากตามมาตรฐานการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
จัดทำแนวทางการรักษาและการค้นหาเชิงรุกให้กับสาธารณสุขในพื้นที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยท้องเสียทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ เตรียมพร้อมยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ
รวมถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาและน้ำดื่มในพื้นที่ พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรฐานน้ำประปาและให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาเพื่อยกระดับความมั่นใจให้กับประชาชน และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบน้ำดื่มและน้ำแข็งตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยแก่ผู้บริโภคและในการตรวจเยี่ยมตลาดสด
พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนให้ช่วยกันดูแลสุขอนามัย น้ำสะอาด และระบบสุขาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด เข้มงวดมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบจุดผ่านแดนและกระบวนการคัดกรองผู้เดินทาง โดยกำชับมาตรการที่ด่านอาหารและยาและด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
กระทรวงสาธารณสุขมีการเฝ้าระวังและดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ในวงกว้าง ย้ำว่าอหิวาตกโรคไม่ใช่โรคใหม่ สามารถรักษาได้ และสามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางด้านสุขอนามัยที่กำหนด โดยเฉพาะการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือเนื่องจากการสัมผัสเชื้อจะมาจาก 3 ปัจจัย คือ
1. คน โดยเฉพาะมือของผู้ประกอบอาหาร ป้องกันได้ด้วยการล้างมือด้วยสบู่ที่ถูกต้องก่อน-หลังรับประทานและเข้าห้องน้ำ
2. อาหารและน้ำ ต้องเน้นอาหารปรุงสุก น้ำดื่มสะอาด
3. สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารและน้ำ เช่น ระบบสุขาภิบาล ประปา ตลาดสด ต้องทำให้สะอาดและได้มาตรฐาน