ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ ประกาศเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประชาชนให้การรับตอบรับและมีความพึงพอใจอย่างสูง ปัจจุบันดำเนินการแล้วใน 46 จังหวัด และวันที่ 25 ธ.ค. นี้จะเดินหน้าในอีก 31 จังหวัด ตามแผนขับเคลื่อนระยะที่ 4 ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
และเพื่อเตรียมความพร้อมวันนี้จึงลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งใน 31 จังหวัด เพื่อติดตามในส่วนของหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้งที่คลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริและคลินิกนวัตกรรม ไอสมายล์ ซึ่งจากที่พูดคุยกับทางคลินิกทั้ง 2 แห่งที่เข้าร่วม ต่างมีความเข้าใจหลักเกณฑ์การให้บริการของนโยบายเป็นอย่างดี ขณะที่ทางสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษเองก็มีการเตรียมความพร้อมไว้อย่างครบถ้วนเพื่อดูแลประชาชนภายใต้นโยบายเช่นกัน
นพ.พิเชฏฐ์ จงเจริญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากร 1.4 ล้านคน เป็นสิทธิบัตรทอง 1.04 ล้านคน โดยมีหน่วยบริการลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม ดังนี้ โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง คลินิกพยาบาล 130 แห่ง คลินิกทันตกรรม 16 แห่ง และคลินิกเวชกรรม 13 แห่ง และยังมีคลินิกเอกขนประเภทอื่นที่ให้ความสนใจจะทยอยเข้าร่วม ซึ่งในส่วนระบบหลังบ้านขณะนี้ได้มีการลงทะเบียน Provider ID ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สำหรับให้บริการตามนโยบายแล้ว
“หน่วยบริการนวัตกรรมประมาณ 160 แห่งที่เพิ่มเข้ามานี้ นอกจากช่วยลดความแออัด การรอคอยของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลแล้ว ยังอำนวยความสะดวกประชาชน โดยมีหน่วยบริการทางเลือกเพื่อใช้สิทธิบัตรทองใกล้บ้าน ทั้งบางแห่งยังสามารถเข้ารับบริการนอกเวลาราชการได้ด้วย”
นางตรูตา มีธรรม นักกายภาพบำบัดเชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการคลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริ อ.เมือง จ. ศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้การดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) ในระบบบัตรทองอยู่แล้ว นำร่องโครงการกายภาพบำบัดใกล้บ้านตั้งแต่ปี 2564 และยังได้สมัครร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม 30 บาท รักษาทุกที่ ซึ่งจะประกาศในเดือนนี้ โดยจะเน้นดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคในชุมชน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาจนมีภาวะคงที่ และผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง ซึ่งได้รับการส่งตัวจากโรงพยาบาลศรีสะเกษเพื่อทำกายภาพบำบัดที่บ้าน ในระยะเวลา 6 เดือน พร้อมนัดติดตามอาการที่โรงพยาบาล ซึ่งปีนี้คลินิกฯ ได้ให้บริการผู้ป่วยกลุ่มนี้แล้ว 236 คน แล้ว
“อยากให้เพิ่มจำนวนครั้งรับบริการที่คลินิกฯ เพราะ 20 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน ต้องรวมกับการบริการที่ รพ. ด้วย ทำให้การฟื้นฟูของผู้ป่วยไม่ดีพอ อย่างผู้ป่วยที่มาเยี่ยมนี้ก็รักษามา 1 ปี 4 เดือนแล้ว แต่ผู้ป่วยก็มีปัญหาการทรงตัวอยู่ แต่ก็หมดโควต้าที่คลินิกจะให้บริการแล้ว จึงต้องไปฟื้นฟูฯ ที่ศูนย์สุขภาพศรีสะเกษแบบองค์รวม ม.ราชภัฏศรีสะเกษแทน ซึ่งที่นั่นก็มีเจ้าหน้าที่ไม่มากนัก ต้องแออัดกันอยู่ที่นั่นแทน”
ทพ.เก่งนิติ ติละบาล ผู้บริหารไอสมายล์คลินิกทันตกรรม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมกับ สปสช. แล้ว ปัจจุบันที่คลินิกมีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ยที่ 10 คนต่อวัน คาดว่าหลังการประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน จ.ศรีสะเกษ ผู้ที่มีสิทธิบัตรทองจะเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคลินิกฯ ได้เตรียมความพร้อมบริการไว้แล้ว ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทันตกรรม และระบบเชื่อมต่อข้อมูลบริการ ซึ่งให้พนักงานฝึกใช้โปรแกรม DentCloud รวมถึงการใช้งานเว็บไซด์ สปสช. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การบริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ คือให้บริการคนละ 3 ครั้งต่อปี ครอบคลุม 5 รายการ ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์
“การเพิ่มคลินิกทันตกรรมร่วมให้บริการในระบบ จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรมของคนไทยได้ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาตลอดที่ร้อยละ 10 – 20 เท่านั้น ทั้งเป็นการลดความแออัด ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางได้ด้วยเพราะอยู่ใกล้บ้าน”