ผ่างบ สธ.1.72 แสนล้าน ลุย 30 บาทรักษาทุกที่ รับมือ "สูงวัย-NCDs"

04 ธ.ค. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 12:01 น.
2.4 k

ส่องปัญหาสาธารณสุขไทยกับความพร้อมในการบริหารจัดการด้านสุขภาพของคนไทย ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การบูรณาการรองรับสังคมสูงวัย การรณรงค์ป้องกัน รักษาผู้ป่วยโรค NCDs การป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด บริการด้านสุขภาพ หลังปี 68 ได้งบประมาณกว่า 1.72 แสนล้านบาท

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาระบบสุขภาพของคนไทยมีปัญหามากมาย ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลไม่เพียงพอกับภาระกิจที่มากมาย โดยในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อการดูแลสุขภาพคนไทย ทั้งสิ้น 172,285 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ* (เป็นจำนวนเงินนอกงบประมาณเฉพาะที่นำมาสมทบกับงบประมาณรายจ่าย) จำนวน 402 ล้านบาท

แม้ว่าเมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2567 ได้ รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 6,909 ล้านบาท โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 165,375 ล้านบาท (เงินนอกงบประมาณ จำนวน 402 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมการจัดสรรงบประมาณในระบบสาธารณสุขของไทยจะพบว่า กระจัดกระจายและมีความทับซ้อนอยู่ในหลายภาคส่วนด้วยกันตามภาระแผนงานและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ,แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด, แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล, แผนงานยุทธศาสตร์จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ เป็นต้น

อีกข้อกังวลที่ต้องจับตามอง กรณีที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงระบบสุขภาพของประเทศไทยในขณะนี้และในอนาคตว่า กำลังเผชิญกับภาวะคุกคามอยู่ 2 เรื่องที่สำคัญที่ต้องการการแก้ไขและหากบริหารจัดการไม่ดีประเทศอาจจะล้มละลายได้

เรื่องแรก คือ สถานการณ์ผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดไว้ ทั้งยังเผชิญกับเรื่องของปัญหาเด็กเกิดน้อยด้วย การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานในอนาคต ดังนั้น ระบบการดูแลระยะยาวและระบบต่าง ๆ จะต้องทำอย่างจริงจัง

ผ่างบ สธ.1.72 แสนล้าน ลุย 30 บาทรักษาทุกที่ รับมือ \"สูงวัย-NCDs\"

2.ปัญหาทางสุขภาพที่เปลี่ยนจากระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อ เป็น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่จะกลายไปเป็นผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไตต่อไปซึ่งหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะกระทบกับระบบสุขภาพทั้งหมด

สอดรับกับข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง สิทธิบัตรทอง 30 บาทที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ราว 7.9 หมื่นคน ขณะที่งบประมาณในการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2565 ตั้งงบประมาณไว้ 9,700 ล้านบาท ใช้จริง 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2566 ตั้งงบประมาณไว้ 9,900 ล้านบาท ใช้จริง 1.2 หมื่นล้านบาท

สำหรับปี 2567 ตั้งเอาไว้ใกล้เคียงกับการใช้จริงในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จากข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2567 สปสช.ใช้งบประมาณไปแล้ว 7,000 ล้านบาท

ขณะที่ปัญหาสะสมก่อนหน้านี้มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาเชิงระบบโดยประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง สำหรับประชาชนทั่วไป ระบบสวัสดิการข้าราชการสำหรับข้าราชการ และระบบประกันสังคม สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการรับบริการที่แตกต่างกัน 

ผ่างบ สธ.1.72 แสนล้าน ลุย 30 บาทรักษาทุกที่ รับมือ \"สูงวัย-NCDs\"

นอกจากนี้ระบบสาธารณสุขของไทยยังมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ในไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 922 คน จากจำนวนแพทย์ทั้งหมดในประเทศ 71,616 คน ทันตแพทย์ สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 คนจากจำนวนทันตแพทย์ในประเทศทั้งหมด 18,094 คน

พยาบาล สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 316 คน จากจำนวนพยาบาลในประเทศทั้งหมด 209,187 คน, เภสัชกร สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 1,966 คนจากจำนวนเภสัชกรในประเทศทั้งหมด 24,149 คน เป็นต้น

ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการแก้ไขมีอยู่หลายเรื่องเช่นกัน เช่น ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างแพทยสภา กับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม กรณีที่ สปสช. ขยายสิทธิการให้บริการกับประชาชน เพื่อดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้สามารถไปรับยามารักษาตัวเองจากร้านขายยาซึ่งเป็นหน่วยบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 32 กลุ่มอาการ หรือประเด็นปัญหากรณีที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งแจ้งขอถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับ สำนักงานประกันสังคม เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว

  ผ่างบ สธ.1.72 แสนล้าน ลุย 30 บาทรักษาทุกที่ รับมือ \"สูงวัย-NCDs\"

สำหรับงบประมาณด้านการดูแลสวัสดิการประชาชนทั้งประเทศ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี 2568 กำหนดวงเงินในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันทางสังคมนั้น สำนักงบประมาณได้จัดสรรวงเงินเอาไว้รวม 378,128.7 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 65.55 ล้านคน ที่ได้รับบริการรักษาพยาบาล แยกเป็น

1.ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวม 47.16 ล้านคน ทั้ง เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวจาก 3,472.24 บาท/ราย เป็น 3,856.08 บาท/ราย และการสิทธิประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพเเละป้องกันโรค 

2.ระบบประกันสังคม สมาชิกกองทุนฯ ม.33 ม.39 เเละ ม.40 รวม 24.65 ล้านคน ทั้ง สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บปวยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

3.สวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐ รวม 4.70 ล้านคน ทั้ง ปรับปรุงอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ปวยใน ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) สําหรับผู้ปวยโรคไตวายเฉียบพลันให้มีความเหมาะสม เพิ่มรายการยาฉีด สําหรับผู้ปวยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง จากเดิม 2 รายการ เป็น 3 รายการ และการบริการการแพทย์ทางไกล

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะงบประมาณกระทรวงแรงงาน พบว่า ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงแรงงานได้รับการจัดสรรงบประมาณ รวมกว่า 63,877 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม 61,377 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะถูกกำหนดไว้ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักระกันสังคมทั้งหมด

ในปี 2568 ยังต้องจับตาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต