เปิดสถิติคนไทยติดเค็ม เด็ก 6-14 ปี ป่วยความดันโลหิตสูง-เสี่ยงโรค NCDs

24 ธ.ค. 2567 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 11:01 น.
4.0 k

สสส.เผยสถิติปี 2567 คนไทยติดเค็ม-เติมเครื่องปรุงในอหาร เสี่ยงโรค NCDs พบเด็กอายุ 6-14 ปี กินขนมกรุบกรอบรสเค็มมากที่สุด ส่อมีโรคประจำตัวจากความดันโลหิตสูงถึง 10% พร้อมเร่งสร้างสังคมรอบรู้ด้วยแคมเปญ “ลดเค็ม ลดโรค”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทยปี 2567 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. พบเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี กินขนมกรุบกรอบรสเค็มมากที่สุด 84.1% กินเฉลี่ย 1.35 ซองต่อวัน รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 1-5 ปี 76.5% กินเฉลี่ย 1.23 ซองต่อวัน 

นอกจากนี้ ยังพบคนไทยเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่มในอาหารประมาณ 30% เฉลี่ย 0.86 ช้อนชาต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กมักเติมเครื่องปรุงรสเค็มปริมาณมากที่สุด เฉลี่ย 0.89 ช้อนชาต่อวัน 

เปิดสถิติคนไทยติดเค็ม เด็ก 6-14 ปี ป่วยความดันโลหิตสูง-เสี่ยงโรค NCDs

ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และนโยบายสาธารณะ สร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยเฉพาะลดการบริโภคเค็ม ผ่านแคมเปญ "ลดเค็ม ลดโรค" ผลประเมินพบว่า ประชาชนเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคเค็ม 92% และกระตุ้นการปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเค็ม 85.1% 

ล่าสุด สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร (Salt Meter) เตรียมขยายผลนำไปใช้ปรับพฤติกรรมลดเค็มทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ 

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นรณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาล และไขมันทรานส์ พร้อมสนับสนุนการบริโภคผัก ผลไม้ และอาหารปลอดภัย กำหนดมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมและโครงการที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพ การจัดตลาดเขียวในชุมชน และการพัฒนาโครงการเพื่อสุขภาพโดยชุมชนเป็นฐาน มุ่งลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต

ด้าน นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดโรค NCDs เป็นภาระงานและความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุข มีคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 400,000 คนต่อปี สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี 

เปิดสถิติคนไทยติดเค็ม เด็ก 6-14 ปี ป่วยความดันโลหิตสูง-เสี่ยงโรค NCDs

ในปี 2568 มีสโลแกน “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี” มุ่งสนับสนุนกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นeนวัตกรรม Salt Meter ขยายผลสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานทั่วประเทศ เป็นแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด

รวมถึงกำหนดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ผลักดันมาตรการภาษีโซเดียม มุ่งเป้าให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs ด้วยการลดการกินเค็ม ลดเกลือและโซเดียมเกินกำหนด สอดรับ 1 ใน 9 เป้าหมายลด NCDs ระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases for 2025) 

นพ.กฤษฎา กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภคเกลือแกงในไทย พบคนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหาร 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา ที่สำคัญยังพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมองกว่า 22 ล้านคน 

“คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ภายในปี 2568 ไทยควรจะต้องทำให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% โดยจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดเกลือและโซเดียม สร้างความรู้สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภค การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดี” 

เปิดสถิติคนไทยติดเค็ม เด็ก 6-14 ปี ป่วยความดันโลหิตสูง-เสี่ยงโรค NCDs

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้บริโภคที่กินเค็มอยู่เป็นเวลานาน ๆ และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ขาดความตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเค็ม มีความเคยชินเนื่องมาจากการรับรสเค็มของลิ้นน้อยกว่าคนปกติ ที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุ 10-19 ปี พบมีภาวะความดันโลหิตสูง 10% ซึ่งจะสูงต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่ในวัยผู้ใหญ่ 

สาเหตุส่วนหนึ่งจากการบริโภคอาหารและขนมโซเดียมสูง นวัตกรรม Salt Meter เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการปรับการรับรสให้แต่ละคนสามารถปรับลิ้นให้คุ้นเคยรสชาติที่เปลี่ยนไปได้ มีประโยชน์ในการลดอัตราผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ นำไปสู่ความชอบการบริโภคอาหารเค็มน้อย “เค็มน้อยอร่อยได้” 

ทั้งนี้ การปรับลดความเค็มในอาหารพร้อมบริโภค อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวในร้านสะดวกซื้อ ควรมีกฎหมายควบคุมการตลาดสำหรับเด็ก ควบคุมปริมาณโซเดียมสูงสุด รวมถึงผลักดันภาษีโซเดียมเป็นมาตรการชักจูงให้อุตสาหกรรมอาหารปรับตัวออกสูตรลดโซเดียม นอกจากทำให้ไม่ต้องเสียภาษียังเกิดประโยชน์ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของประเทศ