“โซเดียม” เพชฌฆาตสุขภาพ ผลวิจัยพบคนไทยกินเค็มเกินค่าเฉลี่ย

11 มี.ค. 2566 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2566 | 18:47 น.

การบริโภค “โซเดียม” เพชฌฆาตสุขภาพ สธ.เผยผลวิจัยคนไทยในกลุ่มตัวอย่าง 4 จังหวัด กินเค็มเกินค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหา

ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Noncommunicable diseases ) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะ การบริโภคโซเดียม หรือกินอาหารที่มีรสเค็มจัด สร้างผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคไตเรื้อรัง นอกจากภาระในการจัดบริการสุขภาพ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากกว่าการรักษาพยาบาลเมื่อป่วยแล้ว โดยเดินหน้าผลักดันการลดบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรลง 30% ภายในปี 2568 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ผลวิจัยคนไทยกินเค็มเกินค่าเฉลี่ย

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับ ปริมาณการบริโภคโซเดียมของประชากรไทย จากการประเมินปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง โดยการศึกษาแบบภาคตัดขวาง เพื่อประมาณการค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมต่อวันของกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-69 ปี ใน 4 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และพะเยา รวม 1,440 ราย เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ -20 พฤษภาคม 2564 พบว่า 

ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมต่อวัน รวม 4 จังหวัด เท่ากับ 3,236.8 มก. สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 2,000 มก. แยกเป็น

  1. จังหวัดพะเยา มีค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียม/วันสูงถึง 4,054.8 มก. 
  2. จังหวัดอำนาจเจริญ 3,773.9 มก. 
  3. จังหวัดอุบลราชธานี 3,131.3 มก. 
  4. จังหวัดศรีสะเกษ 2,906.5 มก. 

ส่วนผลตรวจโซเดียมในปัสสาวะกลุ่มตัวอย่าง พบว่า จ.พะเยา มีสัดส่วนการบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,000 มก./วัน มากที่สุด รองลงมาคือ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ตามลำดับ

โดยมีปัจจัยที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูง คือ ระดับดัชนีมวลกายมาก อายุน้อย ระดับการศึกษามัธยมมากกว่าประถม และระดับรายได้เกินหมื่นบาทต่อเดือน และยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคและอาหารประจำถิ่น อีกด้วย

แนวทางการการลดบริโภคเค็ม

การลดบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้หลายมาตรการร่วมกัน ดังนี้

  • ลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณสูง
  • ให้ความรู้และความตระหนักกับประชาชน
  • จัดการด้านอาหารสุขภาพในชุมชนหรือองค์กรต่างๆ
  • ใช้ฉลากอาหารแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อสร้างการรับรู้และการตัดสินใจเลือกรับประทาน
  • ใช้มาตรการภาษีในกลุ่มอาหารเสี่ยงสูง
  • เฝ้าระวังและติดตามการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน 

นอกจากนี้ยังมีวิธีง่าย ๆ นั่นคือ ส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มโพแทสเซียมควบคู่ไปกับการลดการบริโภคโซเดียม เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย