ค่าเสี่ยงภัยโควิดค้าง อปท.เบิกจ่ายแค่ 8% 

18 ธ.ค. 2567 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 11:56 น.

โฆษก สธ. แจงหน่วยงานในสังกัดเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ครบถ้วนแล้วเหลือในส่วนของ อปท.ที่เบิกจ่ายแล้ว 12 ล้านบาท หรือเพียง 8% ของวงเงิน 144.8 ล้านบาท เผยที่ผ่านมามีกระบวนการสนับสนุนช่วยเหลือการเบิกจ่ายต่อเนื่องแต่ไม่ค่อยคืบหน้า ล่าสุด 2 แห่งยืนยันไม่ขอเบิก

18 ธันวาคม 2567 นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงผลงานรัฐบาลโดยหนึ่งในนั้น คือ ประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567

ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID - 19) ค้างจ่ายของหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - เดือนกันยายน 2565

ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายครบถ้วนแล้วทุกแห่ง เหลือส่วนของหน่วยงานนอกสังกัด วงเงิน 593.48 ล้านบาท ที่ยังมีการเบิกจ่ายน้อย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระบวนการสนับสนุนช่วยเหลือ อปท.เพื่อเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือแจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้ อปท.จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบข้อมูลค่าเสี่ยงภัยแต่ไม่มี อปท.เข้าร่วมช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567

กองคลังจึงได้จัดประชุมอีกครั้งเพื่อให้ อปท. 43 จังหวัด รวม 170 แห่ง ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 มาก่อน มาทำความเข้าใจการจัดทำเอกสารตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย โดยระหว่างเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 มี อปท. เข้าร่วมตรวจสอบเอกสารไปแล้ว 145 แห่ง ยังเหลือ อปท. ที่ไม่สามารถเข้ามารับฟังคำชี้แจงได้อีก 25 แห่ง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567

กองคลังจึงมีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางเบิกจ่ายให้กับ 25 หน่วยงานที่เหลือโดยเฉพาะ และให้จัดส่งเอกสารภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 หรือหากไม่ประสงค์ขอเบิก ให้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยด่วน เพื่อบริหารจัดการงบประมาณต่อไป

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 พบว่า จากยอดรับจัดสรร 144,881,406 บาท มี อปท. ส่งเอกสารเบิกจ่ายเพียง 12,021,625 บาท คิดเป็น 8.30% และมีหน่วยงานที่ส่งหนังสือยืนยันไม่ขอเบิก 2 แห่ง คือ

1. เทศบาลตำบลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่

2. เทศบาลตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขที่สังกัด อปท. สามารถติดตามสอบถามความคืบหน้าได้กับ อปท.ที่เป็นต้นสังกัด นพ.ศักดากล่าว