เตือนภัย ฝุ่น PM 2.5 คนไทยป่วยพุ่ง 6.4 ล้านราย

07 ธ.ค. 2567 | 03:00 น.
819

สาธารณสุข รับมือ PM 2.5 ปี 68 ออก 7 ข้อสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 4 มาตรการหลัก เปิดข้อมูลวันที่ 1 ต.ค. 66 - 29 พ.ย.67 คนไทยป่วยรวม 6.4 ล้านราย

จากกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปี 2568 ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 นั้น

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 29 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยรวม 6.4 ล้านราย เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบมากที่สุด 2.7 ล้านราย ตามด้วยกลุ่มโรคตาอักเสบ 2.1 ล้านราย และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 1.3 ล้านราย

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้กำหนด 4 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1. สร้างความรอบรู้การลดมลพิษและการดูแลสุขภาพป้องกันตนเอง 

2. ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยยกระดับการเฝ้าระวังสื่อสารแจ้งเตือนความเสี่ยงอย่างรวดเร็วด้วยดิจิทัล หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐานให้รีบแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ระดับสีส้ม :

เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 37.6 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แจ้งเตือนวันละ 1 รอบ

ระดับสีแดง :

มีผลกระทบต่อสุขภาพ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป แจ้งเตือนวันละ 2 รอบ แต่หากเกิน 150 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ให้แจ้งเตือนวันละ 3 รอบ หากจำเป็นให้เสนอมาตรการ Work From Home หรือลดกิจกรรมกลางแจ้งต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด

นอกจากนี้ให้เตรียมห้องปลอดฝุ่นเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางไม่น้อยกว่า 5 พันห้อง ในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 4, 8 และ 13 เพิ่มจากปี 2567 ที่มี 4,457 ห้อง รวมถึงแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น มุ้งสู้ฝุ่น และหน้ากาก โดยขณะนี้มีหน้ากากอนามัยคงคลังทั่วประเทศ 7.38 ล้านชิ้น และหน้ากาก N95 รวม 6.03 แสนชิ้น  

เตือนภัย ฝุ่น PM 2.5 คนไทยป่วยพุ่ง 6.4 ล้านราย

3. จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ขยายเครือข่ายคลินิกมลพิษ คลินิกมลพิษออนไลน์ และมีระบบนัดหมายผ่านไลน์ "หมอพร้อม" เพื่อนัดหมายเข้า คลินิกมลพิษ ซึ่งมีการนำร่องระบบดังกล่าวแล้วใน 4 เขตสุขภาพ 25 จังหวัด ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 และ 8 และพร้อมขยายทั่วประเทศตามสถานการณ์ 

สำหรับอาการสงสัยจากฝุ่น PM 2.5 ที่จะนัดหมายเข้าคลินิกมลพิษ มีดังนี้

  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ไอ มีเสมหะตลอดเวลา
  • หายใจหอบ หายใจเสียงดังหวีด
  • มีผื่นผิวหนัง ระคายเคืองตา ตาแดง
  • เจ็บหน้าอกและเหนื่อยมากต้องนั่งพักหรือจนทำงานไม่ได้

4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะเข้าสู่ระยะเตรียมความพร้อม มีการยกระดับมาตรการต่าง ๆ ให้เข้มงวดขึ้น และเมื่อเกิน 75.1 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 2 วัน จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับจังหวัด และหากเปิดระดับจังหวัด 2 จังหวัดขึ้นไป จะเปิด PHEOC ระดับเขตสุขภาพ

เตือนภัย ฝุ่น PM 2.5 คนไทยป่วยพุ่ง 6.4 ล้านราย

สำหรับข้อสั่งการในการประชุม 7 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้ 1. ให้ผู้ตรวจราชการฯ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและดำเนินการตาม 4 มาตรการดังกล่าว 

2. ยกระดับการเฝ้าระวัง สื่อสาร สร้างความรอบรู้ 

3. ส่งเสริมองค์กรลดมลพิษในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ 

4. ป้องกันผลกระทบทางสุขภาพกลุ่มเปราะบาง 

5. ขยายและยกระดับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 

6. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยกระดับกาารปฏิบัติการหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เตือนภัย ฝุ่น PM 2.5 คนไทยป่วยพุ่ง 6.4 ล้านราย

7. สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่และการจัดการเหตุรำคาญ และการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญจากฝุ่น 

นอกจากนี้ ยังมอบหมายกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคจากการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ผ่านระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ