รัฐบาล ยันเฝ้าระวัง โรคไอกรน ใกล้ชิดขอผู้ปกครองอย่ากังวล  

14 พ.ย. 2567 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2567 | 09:28 น.

"คารม" รองโฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวังติดตามอย่างเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีโรคไอกรนระบาดในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประสานงานอย่างใกล้ชิดติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปีที่อาจจะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ

รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง

นายคารม กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจที่พบมานานแล้วไม่ใช่โรคอุบัติใหม่และมีวัคซีนป้องกัน

โรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น

สถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 พ.ย.2567 จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล กองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 1,290 คน อัตราป่วย 44.74 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 คน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.16

พบรายงานผู้ป่วยมากที่สุดในภาคใต้ โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 1,066 คน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ ยะลา 575 คน รองลงมา ได้แก่ ปัตตานี 199 คน และนราธิวาส 198 คน ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ 0-4 ปี จำนวน 795 คน รองลงมา 5-9 ปี 144 คน และ 10-14 ปี 42 คน ตามลำดับ

อาการของโรคไอกรนคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล และไอเบา ๆ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไอมักจะรุนแรงเป็นชุดจนผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยหรือหายใจไม่ทัน ดังนั้น หากเด็กติดเชื้อในโรงเรียนก็มีโอกาสสูงมากที่เชื้อจะแพร่กระจาย

รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศด่วนแจ้งเตือนสถานศึกษาให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไอกรน พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแล เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและดูแลสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ปลอดภัย นายคารม กล่าว