30 ตุลาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนคนไทยห่างไกล NCDs โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ รมว.สธ. เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมคณะอนุกรรมการอีก 6 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการลดโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ครบวงจร ตั้งแต่การสนับสนุนด้านวิชาการ การบริการสุขภาพทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู
รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย อสม. และภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพ สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี โดยหลังจากกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดโรค NCDs ได้รับการสนับสนุนจากสังคม
ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวงด้วยซึ่งเมื่อสังคมตอบรับแล้วก็ต้องดำเนินการให้สอดคล้องอย่างเร่งด่วนเพราะกว่านโยบายจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา ดังนั้น ต้องมีการวางแผนขับเคลื่อนอย่างรอบคอบโดยเฉพาะการทำข้อมูลตัวเลข
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ต้องมีตัวเลขชัดเจนว่า ภายใน 1 ปีจะช่วยลดผู้ป่วยโรค NCDs และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐทางตรงได้เท่าไรซึ่งถ้ามีฐานข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งรัฐบาล และเอกชน ก็พร้อมสนับสนุนเราอย่างเต็มที่ จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปตัวเลขให้ชัดเจนด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีขณะนี้ คือ ปัจจุบันมีคนป่วยในระบบการรักษาเพราะ NCDs จำนวนกว่า 33 ล้านคน เฉพาะเบาหวานมีคนป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 300,000 คน โรคมะเร็งปีละกว่า 140,000 คน ทำให้ในปี 2560 งบประมาณจำนวน 127,651 ล้านบาทของสปสช. เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา โรค NCDs สูงถึงกว่า 62,138 ล้านบาท
การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนจากนโยบายไปสู่แนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีการวางแนวทางการขับเคลื่อนไว้ 5 ด้าน คือ
1.ให้ความรู้กลุ่มเป้าหมาย อสม. ประชาชน
2.ระบบบริการเชื่อมต่อระบบบริการสู่ชุมชน
3.ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ
4.สื่อสารประชาสัมพันธ์
5.กลไกติดตามประเมินผล
สำหรับไทม์ไลน์ในไตรมาสแรก คือ 1.จัดกิจกรรมคิกออฟ 6 ภูมิภาค เริ่มที่แรกที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ 2.จัดตั้งคณะทำงานทุกจังหวัด 3. จัดตั้งคลินิก NCDs Remission ในรพ.ทุกระดับ และรพ.สต. 1 แห่ง/อำเภอ และ 4.จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ระดับอำเภอ 1 แห่ง/อำเภอ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนโครงการนี้ ผมมั่นใจว่า จะช่วยลดผู้ป่วย NCDs ได้ เพราะหากพี่น้องประชาชน เข้าใจการทานอาหารที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดการเจ็บป่วยได้ทันที