จากกรณีการตรวจพบสารตกค้างใน องุ่นไชน์มัสแคท ที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอยู่ในขณะนี้นั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนเพื่อต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ว่า
การแสดงความคิดเห็นเรื่องที่เสียหายต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจต้องระมัดระวัง สารตกค้างถ้าไม่มากเกินไปกว่าที่กำหนดก็ควรระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นซึ่ง อย.ก็ต้องดูแลไม่ให้ประชาชนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ
การบริโภคต้องเลือกอาหารที่ปลอดภัย ป้องกันสารพิษในอาหารในผลไม้ต่าง ๆ แต่หากอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็ต้องไม่มีปัญหา เมื่อตรวจพบต้องมาคุยกัน ไม่ให้คนในประเทศตกใจ พ่อค้าแม่ค้าตายกันหมดแบบนี้ ต้องดูทุกมุม อย่าดูมุมใดมุมหนึ่ง
ขณะที่ล่าสุด นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงเกี่ยวกับมาตรการการเฝ้าระวังผักและผลไม้ในการนำเข้าประเทศของ อย.ว่า ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก อย.จึงมีมาตรการในทุกกองด่านอาหารและยาซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ อิงตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดูว่า สารแต่ละชนิดไม่ควรมีปริมาณเกินเท่าใด
ส่วนสารบางชนิดไม่มีในประกาศของกรมวิชาการเกษตร ทาง อย. ก็จะอิงจากปริมาณมาตรฐานของ Codex และถ้าสารตัวไหนที่ไม่มีการกำหนดจาก 2 แหล่งดังกล่าว อย. ก็จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำมาก คือ 0.01 ppm หรือ 0.01 ในล้านส่วนซึ่งถือว่า น้อยมาก
ในแง่ของกฎหมาย เวลาที่เจอสารต่าง ๆ หากมีค่าที่รับรู้อยู่แล้วก็ดำเนินการไปตามนั้นว่า มีมากหรือน้อยเกินจากที่กำหนดหรือไม่และเป็นสารที่รับรู้หรือไม่ ถ้าเป็นสารที่ไม่รู้ อย.กำหนดค่าให้มีได้ในระดับที่ต่ำมาก
ดังนั้น ผักหรือผลไม้ที่มีการนำเข้าที่ด่านเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะสกัดก่อนส่งเข้าประเทศโดยจะมีการตรวจเบื้องต้นซึ่งปีที่ผ่านมาตรวจเกือบหมื่นกว่ารายการ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกปีละกว่า 500 รายการ ปีที่แล้วพบที่ไม่ผ่านเกณฑ์กว่า 100 รายการ คิดเป็น 35% ซึ่งก็ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศและได้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนสินค้าที่ผ่านจากที่ด่านเข้ามาสู่ภายในประเทศแล้ว อย.ก็จะมีการสุ่มตรวจและส่งห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ในปีหน้าจะมีการเพิ่มการตรวจที่ด่าน และตรวจในประเทศ ประมาณ 4,000 -5,000 รายการ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนสารเคมีที่จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยร่วมกับกรมวิชาการการเกษตรพิจารณาว่า สารตัวใดควรจะต้องมีการกำหนดค่าให้เหมาะสม หรือสารใดบ้างที่มีการใช้ในต่างประเทศแต่ประเทศไทยไม่ได้มีการใช้ก็จะมีการทำข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับกรณี เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN แถลงพบสารตกค้างในองุ่นไซมัสแคทนั้น ตามกฎหมายหากจะดำเนินการเอาผิดผู้ที่จำหน่ายผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานนั้นจะต้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและตรวจสอบนั้น เรื่องนี้ทางอย.ได้ขอข้อมูลจาก Thai-PAN กลับมาและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างมาตรวจแล้วซึ่งเรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 มิติ
1.ในมุมมองทางกฎหมายหากมีการใส่สารเคมีซึ่งบางอย่างเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งอย.ได้แบนไปแล้ว หากพบปนเปื้อนเกินค่าที่กำหนดถือว่า ผิดกฎหมายแน่นอน
2.มิติความปลอดภัย หากพบสารในปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยหรือเกินไปเล็กน้อย หากล้างทำความสะอาดก่อนรับประทานก็สามารถทำให้สารต่าง ๆ ลดน้อยลงไปได้
ประเด็นสารปนเปื้อนที่ซึมเข้าไปในผลไม้นั้น นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซึมของสารจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้น ๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะซึมเข้าไปได้ เช่น ซึมไปที่ ราก ลำต้น ดอกหรือใบ ส่วนการซึมเข้าเนื้อผลไม้นั้นถือว่า น้อยมากเพราะการออกแบบชนิดสารต่าง ๆ
ส่วนใหญ่จะหวังผลให้มีการซึมไปที่เปลือกหรือดอกเพื่อให้สารนั้นไปป้องกันแมลงและมีการป้องกันเรื่องของความปลอดภัย สารนั้นก็จะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้เพื่อไม่ให้เกิดพิษ เช่น องุ่นที่เป็นข่าวแต่จริง ๆ อยากพูดโดยรวมว่า ผลไม้ที่มีเปลือกหนาก็จะซึมยาก เปลือกบางก็จะซึมง่ายแต่ธรรมชาติของเปลือกองุ่นที่เรียบเนียนเมื่อล้างก็จะทำความสะอาดสารออกได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการที่กองด่านอาหารและยาเป็นจุดสกัดที่สำคัญโดยจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1.บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่า สินค้านั้นไม่มีปัญหา และ 2.ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนจำนวนมากหรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยงก็จะกักไว้ก่อน แต่สำหรับผักผลไม้ที่เสียง่ายเมื่อก่อนจะไม่กักเอาไว้ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่า มีปัญหา ครั้งต่อไปจะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยงแต่มาตรการปัจจุบันสามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงเพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็วถ้าพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้
นายแพทย์สุรโชค เลขาธิการ อย. กล่าวย้ำว่า อย.เน้น 2 สารที่แบนไปแล้ว คือ คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต และยังมีสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ โดยกำหนดสารที่จะต้องตรวจอยู่ที่ 130 รายการ ตอนนี้ก็มีการขยายเพิ่ม
อย่างไรก็ดี แล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจได้ 250 สาร บางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจแล็บของเอกชนแต่ก็จะเน้นในประเทศที่ส่งมาแต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสาร หากผักผลไม้ใช้สารอะไรมากก็จะตรวจหาสารนั้น หรือประเทศไหนใช้สารอะไรมากก็จะต้องตรวจหาสารนั้น อย่างบางประเทศไม่ได้มีการแบน 2 สารที่ไทยแบนก็จำเป็นต้องตรวจหาสารนั้นให้มากขึ้น