29 ตุลาคม วันโรคหลอดเลือดสมอง เช็คอาการ สัญญาณเตือน

29 ต.ค. 2567 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2567 | 10:38 น.

วันหลอดเลือดสมองโลก 2567 สาธารณสุข ร่วมรณรงค์ภายใต้แนวคิด กีฬาสร้างพลัง หยุดยั้งโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมแนะนำวิธีสังเกตสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองด้วยตนเอง หากมีอาการให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดสมองโลก นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวให้ข้อมูลว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี  ซึ่งประเด็นการรณรงค์ในปี 2567 นี้คือ Let’s get active everyday to Be #GreaterThan Stroke: กีฬาสร้างพลัง หยุดยั้งโรคหลอดเลือดสมอง มุ่งเน้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเพราะการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 25%

สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากร ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 12 ล้านคน (ทุกๆ 3 วินาที พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน) และเสียชีวิตมากถึง 6.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากระบบรายงานฐานข้อมูลสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 พบผู้ป่วยสะสม โรคหลอดเลือดสมองจำนวน 358,062 ราย และเสียชีวิตจำนวน 39,086 ราย ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค

สังเกตอาการ/สัญญาณเตือนได้ด้วยตนเอง

นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน สามารถสังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนได้ด้วยตนเองตามหลักการ B.E.F.A.S.T ดังนี้

  • B (Balance) ปวดหัว เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้แบบทันที
  • E (Eye) มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด
  • F (Face) หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก
  • A (Arm) แขนอ่อนแรงครึ่งซีก ชาไม่มีแรงแบบเฉียบพลัน
  • S (Speech) พูดไม่ชัด พูดลำบาก ลิ้นแข็ง
  • T (Time) หากมีอาการให้รีบโทรสายด่วน 1669 และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที

หากไปพบแพทย์ช้าอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจจะกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกัน

โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ 90% โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่เกินระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควบคุมระดับความดันโลหิตน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควบคุมระดับไขมันในเลือดไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียดพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะซึมเศร้า และความเครียด

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันหรือสะสม 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถออกกำลังกายเพื่อช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่น ลดปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวและการเดิน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ

ทั้งนี้ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด เนื่องจากต้องมีการปรับ  ให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายและระดับการฟื้นตัวของแต่ละบุคคล

29 ตุลาคม วันโรคหลอดเลือดสมอง เช็คอาการ สัญญาณเตือน