ในช่วงของการเป็นหนอนแมลงโดยทั่วไปจะต้องกินอาหารในปริมาณมากก่อนหยุดกินเมื่อกลายเป็นดักแด้ จนอาจส่งผลให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งหากเกิดเพียงเล็กน้อย อาจยังคงทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพพึงพอใจ
เนื่องจากลักษณะของใบพืชผักที่ถูกหนอนกัดกินจนเป็นรู และเว้าแหว่งเพียงเล็กน้อย อาจหมายถึงที่มาจาก “แปลงผักปลอดสารเคมี” แต่หากเกิดเป็น “การแพร่ระบาด” ของ “หนอนกระทู้ผัก” (Spodoptera litura) ที่มีเป็นจำนวนมากจนเกินไป อาจหมายถึง “น้ำตาของเกษตรกร” ที่ต้องพบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ
รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ นพเสถียร อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล
จากผลงานนวัตกรรมทางการเกษตรกำจัดหนอนกระทู้ผัก (Common Cutworm) ที่ยังคงคุณค่าของ “แปลงผักปลอดสารเคมี” จากสารกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากการสกัดพืชสมุนไพรในท้องถิ่น
โดยได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการนานาชาติ “Pest Management Science” จากการวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยโกตดาซูร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายใต้ทุน Franco - Thai สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เพื่อ “ซับน้ำตา” ชาวสวนผักกะหล่ำปี ชาวไร่ฝ้าย ชาวไร่ข้าวโพด รวมทั้งชาวนา ฯลฯ ที่ต้องเสียหายจากกองทัพ “หนอนกระทู้ผัก” ที่ทำลายพืชผลโดยไม่ทันตั้งตัว ด้วยวิธีการที่ทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนทดลองสกัดสารจากสมุนไพรในท้องถิ่น ยกตัวอย่าง 2 ชนิด ได้แก่ “ผักหวานป่า” (Melientha suavis) “ว่านน้ำ” (Acrorus calamus) ตามลำดับ
ซึ่งในลำดับแรกที่ปรากฏผลแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ ได้แก่ “ผักหวานป่า” ซึ่งได้นำมาสกัดด้วย “เมธานอล” (Methanol) จนได้สาร “คริสเซอริอัล” (Chrisoeriol) ที่ให้ความเผ็ดร้อน แล้วจึงนำมาทดสอบกำจัดหนอนกระทู้ผัก ทั้งด้วยวิธีการฉีดพ่นที่หนอนกระทู้ผักโดยตรง และใช้จุ่มอาหารหนอนกระทู้ผัก ในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน พบว่าสามารถกำจัดหนอนกระทู้ผักได้ดีมาก
อย่างไรก็ดี ผลการทดลองไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช ทีมวิจัยยังได้มุ่งศึกษาถึง “ความปลอดภัย” จาก “การเป็นพิษต่อมนุษย์” ด้วยการนำสารสกัด “คริสเซอริอัล” ไปทดสอบต่อใน “ปลาซิว” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเช่นเดียวกับมนุษย์ ตลอดจนยังได้ทดสอบ “การดื้อยา” จากหนอนกระทู้ผักที่รอดชีวิตจากการทดสอบมาศึกษาผลระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามเป้าหมาย SDG13 แห่งสหประชาชาติ ที่รอการค้นพบผลกระทบที่อาจเกิดเป็นการดื้อยาของหนอนกระทู้ผักต่อไปอีกด้วย
ทีมวิจัยพร้อมมอบองค์ความรู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยไม่ได้มุ่งหวังสู่เชิงพาณิชย์เป็นหลัก เช่นเดียวกับการทดลองที่ขยายผลสู่การทดลองกับสารสกัดจากพืชสมุนไพร “ว่านน้ำ” (Calamus Root) และ “สะค้าน” (Piper Interruptum Opiz) ในก้าวต่อๆ ไป ก่อนที่จะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อประโยชน์ในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป