อีกไม่เกิน 10 ปี โครงสร้างประชากรในประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super Aged Society) หรือการมีสัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือโรคภัยต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ “โรคหลอดเลือดสมอง”
ซึ่งพบว่า ไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ มีจำนวน 2.5 แสนรายต่อปี และในจำนวนนี้กว่า 70% มีความพิการหลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัดฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ “Arm Booster” หรือ อุปกรณ์ฝึกการทำงานของแขนแบบฝึกแขนสองข้าง ผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร ผลงานจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบ และพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า หนึ่งในความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society คือ การตั้งรับกับภัยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภัยสุขภาพที่ป้องกันได้ และภัยสุขภาพอันเป็นผลพวงมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ทั้งนี้ “Arm Booster” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้
“Arm Booster คือนวัตกรรมที่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อผ่านการกายภาพที่มีคุณภาพ แม้นวัตกรรมจะเจาะจงไปที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว Arm Booster มีประโยชน์และตอบโจทย์ผู้สูงอายุทุกคน นั่นเพราะปัจจุบัน นวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุมีไม่มาก”
หลักการทำงานของ Arm Booster คือการใช้แขนข้างที่ดีไปออกกำลังแขนข้างที่ไม่ดี ผ่านกลไกการออกแบบลักษณะพิเศษ ที่สามารถทำให้แขนของผู้ใช้นวัตกรรมสามารถขยับได้หลากหลายทิศทาง ทั้งการยืดแขนไปด้านหน้า (Y-Direction) ยกแขนด้านบน (Z-Direction) และกางแขนด้านข้าง (X-Direction) โดยนวัตกรรมจะติดตั้งระบบเกม เพื่อช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินและใช้อุปกรณ์ได้นานยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีระบบเซนเซอร์บริเวณมือจับทั้งสองข้างเพื่อรับแรงจากแขนทั้งสองข้าง ประมวลผลด้วย LabVIEW และแสดงผลบริเวณหน้าจอขณะผู้ใช้งานกำลังออกแรง ซึ่งจะช่วยมอนิเตอร์การทำงานได้อย่างเรียลไทม์
Arm Booster ช่วยอุดช่องโหว่ของการกายภาพฟื้นฟูที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการฝึกแขนข้างที่อ่อนแรงเพียงข้างเดียว ทว่า Arm Booster จะฝึกแขนทั้งสองข้างพร้อมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้แขนตามปกติ และยังเป็นการเสริมภาพจำการใช้งานของสมอง ตลอดจนเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนจากลำตัวได้อีกด้วย
จากการทำวิจัยร่วมกับคณาจารย์ทั้งแพทย์ พยาบาล กายภาพบำบัด พบข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงนวัตกรรมการฟื้นฟูและการกายภาพบำบัดที่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึงเครื่องละ 3-4 ล้านบาท ทำให้นวัตกรรมเหล่านี้กระจุกตัวอยู่เฉพาะสถานพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีกำลัง
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวอีกว่า ในมุมของผู้ป่วยเองนั้น พบว่าจำเป็นต้องได้รับการกายภาพหลายครั้งติดต่อกันเป็นเวลานาน การเดินทางไปกายภาพที่สถานพยาบาลจึงมีความยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่การหมดกำลังใจในการรักษา ที่สุดแล้วก็จะมีความพิการหลงเหลืออยู่และกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
“Arm Booster ที่ถูกพัฒนาขึ้นมามีราคาประเมินราวเครื่องละ 3-4 แสนบาท โดยผลจากการทดลองใช้จริงพบว่า ผู้ป่วยที่ฝึกยกแขนด้วย Arm Booster จะมีระยะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (range of motion) มากกว่าผู้ป่วยที่ฝึกยกแขนด้วยตนเองอย่างชัดเจน ในส่วนนี้จะส่งผลดีอย่างมากกับการทำกายภาพบำบัดเนื่องจาก ช่วยให้เกิดการทำซ้ำและสมองเกิดการเรียนรู้สั่งงานทำให้สมองจะมีการซ่อมแซมตัวเองที่ดีขึ้น เมื่อครบ 2 เดือนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือ แรงของแขนกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงก่อนหน้านี้สูงขึ้นอย่างชัดเจน
มากกว่านี้ Arm Booster ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักกายภาพบำบัดที่เห็นว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ใช้ไม่ยากและลดภาระของนักกายภาพบำบัดได้ เนื่องด้วยผู้ป่วยสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้ด้วยตนเองโดยนักกายภาพบำบัดทำหน้าที่เพียงควบคุมการกายภาพและตั้งค่าโปรแกรมเพียงเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้รับการจดอนุสิทธิบัตรภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ถูกนำไปใช้จริงใน 3 สถานพยาบาล คือ 1. ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เทศบาลตำบลบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 2. รพ.สต.หนองสีดา อ.หนองแซง จ.สระบุรี 3. ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี
“สิ่งที่นักวิจัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากเห็นก็คือ การใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมและประชาชนได้จริง เราอยากเห็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรม หรือนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปตั้งอยู่ในสถานพยาบาลขนาดเล็กใกล้บ้าน
เช่น สถานีอนามัยฯ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตลอดจนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงกับปกติให้ได้มากที่สุด”