เคล็ดลับชะลอสมองเสื่อม กรมการแพทย์ แนะ "ทำอาหาร" ช่วยลดเสี่ยง

09 ก.ย. 2567 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2567 | 21:00 น.

ผู้สูงวัยต้องห้ามพลาด กรมการแพทย์ เปิดเคล็ดลับชะลอสมองเสื่อม แนะทำกิจกรรมง่าย ๆ ในครัว ช่วยกระตุ้นสมอง เสริมความจำและป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ 

ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง พบว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ความรุนแรงของปัญหาสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ครอบครัว ทั้งในด้านจิตใจและความสัมพันธ์ รวมถึงส่งผลต่อระดับ สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องประสบกับปัญหาความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ ทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมา เช่น อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล

มีปัญหาในการนอน มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย จนเกิดพฤติกรรมรุนแรงไม่เหมาะสม เช่น การด่าทอ ตะโกน ก้าวร้าว การคิดไม่สมเหตุสมผล หรือกระทั่งอาจพบอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน

หากผู้ดูแลไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้หากมีอาการของสมองเสื่อมรุนแรงขึ้นผู้สูงอายุจะดูแลตนเองได้น้อยลงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้แม้กระทั่งกิจกรรมในชีวิตประจำวันปกติ  

การทำอาหาร เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่ซับซ้อนที่ต้องอาศัยการทำงานของสมองหลายส่วน เช่น การทำงานของสมองที่เกี่ยวกับด้านการวางแผน การรู้คิดและจดจำ

เริ่มตั้งแต่ข้อมูลวิธีการเตรียมทำอาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงการประกอบอาหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอนสามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้

ด้านแพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการทำอาหารนอกจากการฝึกกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้มีการรู้คิด วิธีการเตรียมทำอาหาร ส่วนประกอบ การประกอบอาหาร การปรุงรสชาติอาหารเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการใช้ประสาทสัมผัส

ในการมอง การรับรส และการได้กลิ่น เพื่อที่จะบอกว่าอาหารที่อยู่เบื้องหน้ามีหน้าตา รสชาติและกลิ่นเป็นอย่างไรซึ่งการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายระบบสามารถเพิ่มความสามารถในการจดจำ การฝึกปฏิบัติเพิ่มความมั่นใจในการทำอาหารซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองและคงความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันได้ 

ทางสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการทำอาหารจึงนำมาปรับเป็นกิจกรรมการทำอาหาร (Cooking) เพื่อฝึกการใช้ประสาทสัมผัส ฝึกสมองในส่วนการวางแผน และความจำ เพิ่มความมั่นใจในความสามารถของตนในการทำกิจวัตรประจำวันที่ซับซ้อน

ร่วมกับสอดแทรกเกร็ดความรู้ทางด้านโภชนาการที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นการทำแบบกิจกรรมกลุ่มจึงสามารถเพิ่มทักษะทางสังคม (social cognition) แก่ผู้สูงอายุที่มักจะอยู่คนเดียวได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กิจกรรมการทำอาหาร (Cooking) ทางสถาบันฯ จะมีการจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ ณ อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข