ชิงตลาดสมุนไพร 5.9 หมื่นล้าน JSP จัดทัพ สินค้าใหม่-ตู้ยาหยอดเหรียญ

12 ต.ค. 2567 | 06:07 น.

คาดตลาดสมุนไพรทะลุ 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 69 “JSP” ปูพรมรุกหนัก จัดทัพผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยา เดินหน้าเจาะประเทศ AEC พร้อมขยายตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติหลังชิมลาง กระแสตอบรับดีเว่อร์ จ่อตั้งครบ 500 ตู้ในปีหน้า เดินหน้าสู่เบอร์ 1 ตลาดสินค้าสุขภาพครบวงจรในอีก 5 ปี

นายพิษณุ แดงประเสริฐ  ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่า ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ในปี 2564 มีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1% โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มยาบำรุงกำลังมีแนวโน้มความต้องการลดลง

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ทำให้ผู้บริโภค หันมาสนใจดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะ เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2569

นายพิษณุ แดงประเสริฐ

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยในไตรมาสที่ 4 มองว่ายังคงมีความต้องการสูง เนื่องจากผู้คนยังคงเจ็บป่วยและต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสุขภาพ แม้ว่าจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลง แต่ยายังเป็นสิ่งที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็พยายามพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐให้สนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกและการเติบโตในอนาคต

สำหรับในปี 2568 เจเอสพี ยังคงเดินตามยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่วางไว้ในการก้าวสู่เบอร์ 1 ของตลาดสินค้าสุขภาพครบวงจร โดยจะเป็นผู้ให้บริการที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือเป็นผู้วิจัยและพัฒนา ยกระดับพืชท้องถิ่นของไทยไปสู่การคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ กลางน้ำ การเป็นโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน และปลายน้ำ คือการมีช่องทางกระจายสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึงในวงกว้าง

โดยกลยุทธ์ในการเติบโตของ JSP จะเติบโตแบบควบคู่ทั้งแบบออแกนิกส์ คือเติบโตจากภายใน และการควบรวมกิจการ ซึ่ง JSP ได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 200 ล้านบาท ในการควบรวมกิจการอย่างน้อย 2 กิจการต่อปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

ชิงตลาดสมุนไพร 5.9 หมื่นล้าน JSP จัดทัพ สินค้าใหม่-ตู้ยาหยอดเหรียญ

ปัจจุบัน JSP ดำเนินธุรกิจใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1.ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีโครงสร้างรายได้มาจากทั้งสินค้าที่เป็น Own Brand และรายได้จากการรับจ้างผลิต หรือ OEM โดยมีสัดส่วนรายได้ 40 : 60

ขณะที่ในครึ่งปีแรก ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เผชิญกับภาวะการเติบโตที่ชะลอตัว โดยเฉพาะช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่น้อยลง ในขณะที่ตลาดโดยรวมซบเซา ช่องทางการขายผ่านออนไลน์และการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ในครึ่งปีแรกบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา ทำให้ออเดอร์ลดลง โดยปัจจุบันมียอดการส่งออกยาไปยังเมียนมาราว 10% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ว่าตลาดเมียนมาจะหายไป แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะตลาดเมียนมาไม่ได้เป็นตลาดหลักของการส่งออกยาและอาหารเสริม และมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของแบรนด์อาหารเสริมสุภาพโอสถ

ทำให้ยอดขายโดยรวมของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี และบริษัทมีความพร้อมรองรับออเดอร์ จากประเทศกลุ่ม AEC ที่กลับมาเติบโตอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ ทำให้ยอดขายยาโดยรวมยังคงเติบโตต่อเนื่อง

กลุ่มที่ 2.บริษัท เกรซ วอเทอร์ เมด จำกัด หรือ GWM ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตน้ำยาล้างไต (A-B Solution) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำยาสำหรับผู้ป่วยฟอกไต เครื่องฟอกไตเทียม และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จ มียอดขายเติบโต 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน และในอนาคตบริษัทมีแผนนำธุรกิจนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนและขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น

ชิงตลาดสมุนไพร 5.9 หมื่นล้าน JSP จัดทัพ สินค้าใหม่-ตู้ยาหยอดเหรียญ

กลุ่มที่ 3.บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ประกอบธุรกิจด้านการรับจ้างวิจัยเชิงวิชาการในห้องปฏิบัติการ ทดสอบและวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ เจ้าของตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ซึ่งหลังเปิดตัวได้รับกระแสตอบรับดี เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการ แล้ว 200 ตู้ และในปีหน้ามีแผนขยายเป็น 500 ตู้ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

กลุ่มที่ 4. บริษัท แคร์ซูติก จำกัด ให้บริการด้านอินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคน และสำหรับสัตว์เลี้ยง สำหรับภาพรวมที่ผ่านมาตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสัตว์ ตามแผนเดิมเราจะจดทะเบียนภายในกลางปีนี้ แต่เนื่องจากเราเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมรายแรกๆที่เข้ามา จึงทำให้เกิดความล่าช้า

ตลาดอาหารเสริมสัตว์เลี้ยงในไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพสูงที่จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันคนหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และสถานที่ต่างๆ ก็เปิดโอกาสให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปได้มากขึ้นด้วย

ชิงตลาดสมุนไพร 5.9 หมื่นล้าน JSP จัดทัพ สินค้าใหม่-ตู้ยาหยอดเหรียญ

อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ คือขั้นตอนการขออนุญาตผลิตอาหารเสริมสัตว์เลี้ยงที่ยังล่าช้าและซับซ้อน ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารสัตว์เป็นอันดับ 3 ของโลก

 "จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารเสริมสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูง

และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยให้เป็นผู้นำระดับโลก"

กลุ่มที่ 5. สุภาพโอสถ สหคลินิก คลินิกรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเปิดให้ครบ 10 สาขาภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ของสุภาพโอสถได้รับความนิยมอย่างสูงในช่องทางทีวีโฮมช้อปปิ้ง และคาดว่าจะยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้ต่อไป แม้ว่าจะเริ่มต้นช้ากว่าคู่แข่ง แต่ยอดขายออนไลน์ของสุภาพโอสถก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 20-30% ต่อเดือน

การร่วมมือกับช่องทีวีต่างๆ ทำให้สุภาพโอสถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น และยังได้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ของพันธมิตรเหล่านี้ด้วย สุภาพโอสถให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางออนไลน์ของแบรนด์เอง ทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

“อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนเภสัชกรในไทย ร้านขายยาสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการเภสัชกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับ เภสัชกรจำนวนมากเลือกที่จะประกอบอาชีพอื่น เช่น หมอ หรือทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากมองว่ามีโอกาสทางการเงินและความก้าวหน้าในอาชีพที่ดีกว่า”

นายพิษณุ กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทจะยังคงเน้นทำธุรกิจอาหารเสริมต่อ เพราะปีนี้ธุรกิจอาหารเสริมเติบโตขึ้นมากและคาดว่าปีหน้าจะเติบโตได้อีกเท่าตัวและเมื่อธุรกิจอาหารเสริมแข็งแรงแล้ว บริษัทก็จะขยายไปทำธุรกิจสมุนไพรอื่นต่อได้ เพราะว่าอาหารเสริมทำกำไรได้ดีกว่าและแข่งขันง่ายกว่า โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ทั้งหมด 800 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านบาทในปี 2568

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567