นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การขับเคลื่อนของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง 2 รัฐบาล รวมระยะเวลา 120 วัน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย บนเวทีแถลงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2567 หลายเรื่องขยับรุดหน้าไปตามลำดับ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเอามือกุมขมับ
เริ่มจากการดำเนินนโยบายเรือธงของรัฐบาล "30 บาท รักษาทุกที่" ที่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับ เงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ครอบคลุมประชากรร่วม 48 ล้านคน โดยคาดการณ์กันว่าอาจจะไม่เพียงพอกับงบประมาณในปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบบัตรทองเพิ่มขึ้นทุกปี
เหตุการณ์ล่าสุด กรณีการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ได้ส่งผลกระทบเกิดปัญหาโรงพยาบาลหลายแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงินเกิดขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุถึงสถานการณ์การเบิกจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน ปีงบประมาณ 67 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ปี 2567 (ค่าเฉลี่ยผลงาน 10 เดือน) มีงบประมาณรวม 72,867 ล้านบาท อัตราจ่าย 7,309 บาทต่อ AdjRW
สิ้นปีมีงบคงเหลือให้หน่วยบริการ ติดลบแล้ว -8,525 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก ครม.โดยซึ่งได้อนุมัติงบกลางจำนวน 5,924 ล้านบาท จากที่เสนอไป 7,100 ล้านบาท
เกิดคำถามตามมาว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากสามารถทำให้ประชาชนมาหาหมอลดน้อยลง นายสมศักดิ์ รมว.สธ.วางแผนระยะยาว ดึง อสม.ที่มีอยู่ทั่วประเทศนับล้านคนมาเป็นกำลังในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ
พร้อมอัพเกรดศักยภาพให้สามารถช่วยงานสาธารณสุขได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. …หรือ ร่าง พ.ร.บ.อสม. เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ อสม. เช่น กำหนดค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาท พร้อมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี
ทั้งยังได้เดินหน้าแก้ปัญหาในภาพรวม ผลักดันให้เกิด ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข หรือ ร่าง พ.ร.บ.กสธ. ซึ่งจะช่วยให้ สธ.สามารถบริหารจัดการงานด้านบุคลากรได้ด้วยตนเอง มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 9 หมื่นคน มีผู้เห็นด้วยมากกว่า 90% ซึ่งได้นำส่ง ครม. พิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไปแล้ว
เช่นเดียวกับประเด็นการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายและความรับผิดชอบสำคัญในมือของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ณ วันที่ 24 กันยายน 2567 ระบุว่า ทั่วประเทศมี รพ.สต.ทั้งหมด 9,872 แห่ง ถ่ายโอนจากสาธารณสุขแล้ว 4,281 แห่ง ประกอบด้วย อบจ. 4,196 แห่ง, เทศบาลตำบล 33 แห่ง, องค์การบริหารส่วนตำบล 32 แห่ง, เทศบาลเมือง 11 แห่ง, เทศบาลนคร 8 แห่ง และเมืองพัทยา 1 แห่ง ยังไม่ถ่ายโอนอีก 5,597 แห่ง
เนื่องจากจำนวนการถ่ายโอนดังกล่าวให้เป็นไปตามความสมัครใจโดยดูจากศักยภาพเป็นหลัก ท่ามกลางความกังขาที่เกิดขึ้นว่า อบจ.จะมีศักยภาพดูแลบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ดีหรือไม่ รวมไปเรื่องของบุคลากรที่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. เมื่อ อบจ. ต้องการบุคลากรสำหรับจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามกฎหมายระบุซึ่งต้องมาพร้อมกับงบประมาณเพื่อให้บริการกับประชาชนได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังต้องจับตาประเด็นเรื่องของ "กัญชา" หลังจากที่ก่อนหน้านี้พลิกไปพลิกมาไม่มีความชัดเจนว่า จะก้าวเดินไปในทิศทางใด ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสนับสนุนยกระดับสมุนไพรไทย เน้นกัญชาเพื่อการแพทย์ เท่านั้น
ล่าสุดโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย โดย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่างจากฉบับเดิมที่ระบุไว้ว่า ห้ามบริโภคเพื่อการสันทนาการ ในร่างฉบับใหม่นี้ได้ตัดส่วนดังกล่าวออกไปและกำหนดวัตถุประสงค์ในการบริโภคที่ไม่เป็นการผิดกฎหมายแทน ซึ่งก็ต้องจับตาต่อไปว่าคลอดได้เมื่อไร
ถือเป็น 3 โจทย์หินที่หนักเอาการเลยทีเดียว