สาธารณสุข หวั่นโคลนแห้งทำฝุ่น PM10 พุ่ง ออกมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่น้ำลด

23 ก.ย. 2567 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 17:33 น.

สธ. เผยสถานการณ์น้ำท่วม เชียงราย อยู่ระยะฟื้นฟู จัดทีมดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม หนุน ปชช.ป้องกันโรค ล้างทำความสะอาดบ้านและที่สาธารณะ ห่วงฝุ่นจากโคลนแห้งทำแนวโน้มฝุ่น PM10 เพิ่มขึ้น ออก 7 มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน

23 กันยายน 2567 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 7/2567 ว่า

ปัจจุบันสถานการณ์ลดลงเหลือ 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และอุดรธานี มีผู้เสียชีวิต 46 ราย บาดเจ็บสะสม 1,259 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 3 แห่ง รวมสะสม 70 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 69 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.เขายาว จ.สตูล คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ภายในวันนี้

ส่วนการเฝ้าระวังได้กำชับให้จังหวัดต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์ทั้งน้ำในลำน้ำ น้ำในเขื่อนและการระบายน้ำ รวมถึงสถานการณ์ฝน โดยคาดว่า วันที่ 23-25 ก.ย.67 มี 4 จังหวัดที่อาจมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร คือ กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุดรธานี ได้เน้นให้เตรียมพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับ

นพ.วีรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัยได้จัดทีม SEhRT เข้าดูแลตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งประเมินความเสี่ยงและจัดการการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ สื่อสารให้ความรู้ประชาชนและผู้อพยพ ส่วนพื้นที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น จ.เชียงราย ได้ลงพื้นที่สนับสนุนการทำความสะอาด ให้ความรู้ป้องกันตนเองจากเชื้อโรค

การล้างทำความสะอาดบ้าน และการดูแลสถานที่สาธารณะจากปัญหา ซากปรักหักพัง ดินโคลน ฝุ่นละอองจากโคลนแห้ง ขยะที่ลอยมากับน้ำ เชื้อราในบ้าน สัตว์มีพิษ พาหะนำโรค ไฟฟ้ารั่ว ช็อต และไฟดูด 

นอกจากนี้ ยังจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพแต่ละกลุ่มวัยในศูนย์อพยพ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ จัดพื้นที่แม่ให้นมบุตร ส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, เด็ก 0-5 ปี จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม จัดมุมให้ความรู้เรื่องคุณค่าและปริมาณอาหารที่เหมาะสม จัดกิจกรรมหมุนเวียน เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ, เด็กอายุ 6-12 ปี เพิ่มการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และผู้สูงอายุ จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ เป็นต้น พร้อมดูแลเรื่องขยะ ห้องส้วม และอาหาร ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลด้วย

ทั้งนี้ ใน จ.เชียงราย พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน หรือ PM10 สูงสุดอยู่ที่ 72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งแม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐาน 120 มคก./ลบ.ม. แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงเวลากลางวันจากการทำความสะอาดและการจราจรที่ทำให้ฝุ่นจากดินโคลนที่เริ่มแห้งฟุ้งกระจาย จึงได้เน้นย้ำมาตรการ ดังนี้

1.ให้มีการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM10 ในพื้นที่

2.สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองและวิธีการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง

3.เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ใน 4 กลุ่มโรค ทั้งโรคตาโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

4.สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (หน้ากากอนามัย) ให้แก่กลุ่มเสี่ยง

5.ปรับระบบนัดและใช้ Telemedicine เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น

6.จัดห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารรสุข โดยปิดประตู หน้าต่างเพื่อลดฝุ่นเข้าอาคาร

7.ให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในการจัดบ้านให้สะอาด