คนไทยอัตราการเกิดน้อย "ครัวเรือนยากจน" ขาดเงินอุดหนุนเลี้ยงเด็กแรกเกิด

12 ก.ย. 2567 | 08:31 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 11:22 น.

องค์การยูนิเซฟและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เผยคนไทยครัวเรือนยากจนร้อยละ 34 ยังขาดเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนตามสิทธิ์ และควรครอบคลุมเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 6 ปี แก้ปัญหาครัวเรือนตกหล่น

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยเริ่มขึ้นในปี 2558 และได้ขยายครอบคลุมจำนวนเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มจำนวนเงินที่ได้รับต่อเดือน แต่จาพการศึกษาชี้ว่าจำนวนเงินอุดหนุนปัจจุบันที่ 600 บาทต่อเดือน ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็ก

หลักฐานจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าปัญหาการตกหล่นเกิดขึ้นเสมอกับโครงการที่เน้นให้สิทธิ์เฉพาะประชากรบางกลุ่ม ซึ่งมักเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการคัดกรองและการลงทะเบียน เพื่อตรวจคุณสมบัติครอบครัวว่าเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์หรือไม่ และข้อมูลใหม่ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ของประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพเนื่องจากยังมีอัตราการตกหล่นที่สูง

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยสามารถขจัดปัญหาการตกหล่นได้ด้วยการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 7 พันล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีอีก 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กจากครัวเรือนยากจน ซึ่งจะทำให้งบประมาณทั้งหมดของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของจีดีพี และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดเพราะเด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ

 ดร. สมชัย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยสวนดุสิตโพลเมื่อต้นปี 2567 พบว่าร้อยละ 81 ของประชาชนในประเทศไทย สนับสนุนการขยายโครงการนี้ให้เป็นแบบถ้วนหน้า เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็ก ช่วยลดความยากจน และช่วยเติมเต็มสิทธิของเด็กทุกคนในการมีวัยเด็กที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ หลักฐานยังชี้ว่าโครงการนี้มีผลดีต่อโภชนาการของเด็กและการเข้าถึงการดูแลหลังคลอด สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดชีวิตของเด็ก ช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยและช่วยให้ประเทศเติบโตและก้าวหน้า การขยายโครงการให้ครอบคลุมเด็กทุกคนถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคนในสังคม สิ่งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม 'การเริ่มต้นชีวิตและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ' สำหรับเด็กทุกคน เพื่อแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและอนาคตของแรงงาน

นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด คือการลงทุนที่ฉลาดที่สุดในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีงบประมาณเพียงพอที่จะทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง

ตามการคาดการณ์ของยูนิเซฟและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ช่วงหกปีแรกของชีวิตคือโอกาสสำคัญในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี เรียนรู้เต็มที่ มีอาชีพที่ดี และมีส่วนร่วมในสังคม ในทางกลับกันหากไม่ลงทุนในช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศไทยโดยรวมในอนาคต

โดยงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เงินอุดหนุนมีประโยชน์มากต่อสุขภาพและโภชนาการของเด็ก แต่ยังมีครอบครัวที่ตกหล่นจำนวนมากประกอบกับจำนวนเงินช่วยเหลือรายเดือนที่น้อย จึงทำให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถลดความยากจนลงได้เท่าที่ควร