ผู้พิการ 57.4% ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ

10 ก.ย. 2566 | 14:04 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2566 | 14:13 น.
857

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับยูนิเซฟประเทศไทย สำรวจผู้พิการในปี 65 ระบุไทยมีผู้พิการกว่า 4.19 ล้านคน พบ 57.4% ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ได้ร่วมทำการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 เก็บข้อมูลจาก 88,273 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2565 ซึ่งผู้พิการในการสำรวจนี้ คือ ผู้ที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ หรือผู้ที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา อย่างน้อย 1 ลักษณะ

โดยการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 เป็นการสำรวจครั้งที่ 2 ที่ได้ใช้ชุดคำถามความพิการที่พัฒนาโดย Washington Group on Disability Statistics และองค์การยูนิเซฟ1/ ในการระบุความพิการ ซึ่งพิจารณาจาก ความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และสามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ พบว่า ผลการสำรวจความพิการที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. ในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 4.19 ล้านคน หรือร้อยละ 6.0 ของประชากร ทั่วประเทศ ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ คือ 

  • ผู้พิการอันเนื่องจากความลำบากหรือปัญหาสุขภาพเท่านั้น ร้อยละ 2.0 (1.37 ล้านคน) 
  • ผู้พิการอันเนื่องจากมีลักษณะความบกพร่องเท่านั้น ร้อยละ 1.3 (0.91 ล้านคน)
  • ผู้พิการที่มีทั้ง 2 ลักษณะ (ความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 2.7 (1.91 ล้านคน)

2. ส่วนใหญ่ผู้พิการมีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ คือ ความลำบากในการเคลื่อนไหว ได้แก่ การเดิน การเคลื่อนไหวแขนและนิ้ว และการลุกจากการนอนเป็นท่านั่ง ลำดับรองลงมา คือ การดูแลตนเอง  การมองเห็น การจดจำหรือการมีสมาธิ และการสื่อสาร

3. ผู้พิการมีลักษณะความบกพร่อง 5 ลำดับแรก คือ

  • สายตาเลือนราง 2 ข้าง
  • แขน ขา มือ ลำตัว คดงอ เกร็ง โกง กระตุก สั่น 
  • หูตึง 2 ข้าง
  • อัมพฤกษ์
  • แขน ขา ลีบ/เหยียดงอไม่ได้

4. ประเทศไทยมีเด็กพิการ อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 17 ปี จำนวน 157,369 คน คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของเด็กทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของผู้พิการทั้งหมด โดยประมาณ 2 ใน 5 (ร้อยละ 39.6) ของเด็กพิการมีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อนมากกว่า 1 ประเภท

5. เด็กพิการวัยเรียนอายุ 5 – 17 ปี ประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 28.9) ที่ปัจจุบันไม่ได้เรียน โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กฯ ไม่ได้เรียนคือ

  • มีสาเหตุจากป่วยหรือพิการจนกระทั่งไม่สามารถเรียนได้สูงที่สุด (ร้อยละ 71.5)
  • ไม่สนใจหรือคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเรียน (ร้อยละ 12.9)
  • เด็กพิการที่กำลังเรียนอยู่นั้น เกินครึ่ง (ร้อยละ 55.8) กำลังเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา

6. ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย พบว่า มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พิการ จำนวน 2.66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของผู้สูงอายุทั่วประเทศ หรือมากกว่า 3 ใน 5 (ร้อยละ 63.5) ของผู้พิการทั้งหมด โดยผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพตามวัยที่สูงขึ้น

7. ผู้พิการอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ทำงานมีร้อยละ 21.2 ในกลุ่มนี้เกือบครึ่ง (ร้อยละ 49.2) ทำงานใน ภาคเกษตรกรรม สำหรับผู้พิการที่ไม่ทำงาน ครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.1) เนื่องจากป่วยหรือพิการไม่สามารถทำงานได้ รองลงมา คือ ยังเด็กหรือชรา (ร้อยละ 39.9)

8. ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต พบว่าผู้พิการอายุ 5 ปีขึ้นไป เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งการใช้อินเทอร์เน็ต (มีร้อยละ 40.0) และการมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ร้อยละ 54.8) แต่การใช้คอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย (ร้อยละ 5.2)

9. การได้รับสวัสดิการของรัฐ พบว่า 

  • ผู้พิการเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ และการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างทั่วถึง (ร้อยละ 99.1 และ 94.7 ตามลำดับ) 
  • ผู้พิการได้ขึ้นทะเบียนคนพิการร้อยละ 42.6 ซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการเกือบทุกคน สำหรับผู้พิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการมีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57.4)  เนื่องจากไม่ต้องการขึ้นทะเบียน (รวม ไม่คิดว่าตนเองพิการ) ร้อยละ 26.4 หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่ขึ้นทะเบียนได้ ร้อยละ 25.1
  • ในขณะที่ผู้พิการยังเข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนมีเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 5.9) เนื่องจากไม่มีคนพาไป/เดินทางไม่สะดวก ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน เป็นต้น

10. สวัสดิการจากภาครัฐที่ผู้พิการต้องการแต่ยังไม่ได้รับ ได้แก่ 

  • การตรวจรักษาพยาบาล (ร้อยละ 4.1) และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ร้อยละ 9.2) เนื่องจากปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง 
  • ผู้พิการร้อยละ 16.6 ที่ต้องการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการแต่ยังไม่ได้รับ  5 ลำดับแรก คือ เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้า แว่นตาที่ตัดพิเศษ รถนั่งคนพิการและไม้เท้าแบบสามขา 
  • ผู้พิการยังมีความต้องการแต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือและสวัสดิการอื่น ๆ จากภาครัฐ เช่น ให้เพิ่มเบี้ยความพิการ ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ สนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ และการให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น 

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565” ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลสถิติสำหรับใช้ติดตามความก้าวหน้าด้านสถานการณ์ของผู้พิการ ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของผู้พิการในหลากหลายมิติ และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวกับประเทศต่าง ๆ ด้วยมาตรฐานเดียวกันได้ 

“ผลการสำรวจครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายหรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา การทำงาน การบริการด้านสาธารณสุข การขึ้นทะเบียนคนพิการ การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และสวัสดิการอื่น ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”