คลังเปิดเกณฑ์ “แจกเงินดิจิทัล” ยันใช้บล็อกเชน ไม่ต้องลงทะเบียน

06 ก.ย. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 18:02 น.
554

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยันทำผ่านบล็อกเชน ไม่ใช้ระบบ “เป๋าตัง” ระบุอายุ 16 ปีขึ้นไปได้ทุกคน ไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนรับสิทธิ คาดเริ่มได้ภายในไตรมาสแรก ปี 67 หนุนเงินสะพัด 2 ล้านล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นโยบายการจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลนั้น ยืนยันว่า จะทำผ่านระบบบล็อกเชน และสร้างแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาเป็นช่องทางใช้สิทธิให้กับประชาชนไม่ได้มีการใช้ผ่านแอปเป๋าตัง เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับคนไทย โดยโครงการดังกล่าวจะไม่มีการเปิดลงทะเบียนพิสูจน์สิทธิ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปได้รับสิทธิทุกราย คาดว่ามีประมาณ 56 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 

“สาเหตุที่ใช้ระบบบล็อกเชน เพราะว่ามีความปลอดภัย ติดตามการรั่วไหลได้ ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายให้เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ไม่อยากให้เงินที่จ่ายให้ประชาชนแล้วไหลออกไปเลย โดยเงินที่ให้ประชาชน 10,000 นั้น เป็นสิทธิในการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร เพราะต้องการให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 4 รอบ คาดว่าใน 1 รอบจะมีเม็ดเงินเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินสะพัด 2 ล้านล้านบาท”

สำหรับเงื่อนไขของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น 

  • กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายภายใน 6 เดือน หากใช้วงเงินไม่หมดจะโดนริบสิทธิ 
  • โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทั้งหมด อาทิ สินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค เติมน้ำมัน และสินค้าเพื่อเสริมสร้างรายได้เพิ่มเติม เป็นต้น 
  • ยกเว้นการนำไปซื้อสินค้าอบายมุข และการนำไปชำระหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ วงเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ ยกเว้นกรณีร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่รับชำระเงินดังกล่าว สามารถถอนเงินสดออกมาได้ผ่านกลไกของแบงก์รัฐ ส่วนกรณีร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถเข้าร่วมโครงการรับชำระเงินได้ แต่จะต้องนำวงเงินดังกล่าวไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่จด Vat ต่อ ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดออกมาได้

ขณะที่กรณีประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงสัญญาณเครือข่าย หรือไม่มีสมาร์ทโฟน ก็จะมีกลไกรองรับ เช่น ให้ไปยืนยันตัวตนจากแบงก์รัฐ และมีคิวอาร์โค้ด เพื่อนำไปสแกนใช้จ่ายผ่านร้านค้า โดยให้สิทธิลูกหลานสามารถนำไปใช้สิทธิให้ได้ 

สำหรับนโยบายดังกล่าว ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงรายละเอียดแล้ว ซึ่งธปท. ไม่ติดขัดอะไร หากมีสภาพคล่อง ซึ่งงบประมาณที่จะนำมาใช้จากโครงการก็มาจากหลายส่วน ทั้งวงเงินจากงบประมาณ การจัดเก็บรายได้เพิ่ม เงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ สาเหตุที่จัดทำนโยบายดังกล่าว เพราะคนไทยขาดกำลังซื้อ และต้องการแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่รายได้น้อยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์สิทธิความจน เพราะเกิดความเหลื่อมล้ำจากการพิสูจน์สิทธิของภาครัฐ จึงได้จัดทำนโยบายไม่มีการพิสูจน์สิทธิ และหากอยู่ในเกณฑ์เราให้วงเงินครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผงกหัวขึ้น เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจในทางอื่นๆ เช่น การสร้างรายได้ใหม่ ลดราคาพลังงาน ทำให้ทุกคนกลับมายืนได้ และทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ปีละ 5%