ยูนิเซฟเผยผลสำรวจหลังโควิด พบครัวเรือนที่มีเด็กฟื้นตัวช้า

28 พ.ค. 2566 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2566 | 19:09 น.

ยูนิเซฟชี้แนวโน้มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยจากโควิด-19 แต่ผลสำรวจพบครัวเรือนที่มีเด็กยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งการดูแลเด็ก-หนี้ครัวเรือน-เงินออม

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของวิกฤตโควิด-19 (High Frequency Survey) จัดทำขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตอื่น ๆ  เช่น ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยติดตามการฟื้นตัวของครัวเรือนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การจ้างงาน การดูแลเด็ก ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษา ตลอดจนการช่วยเหลือทางสังคม 

 

 

ทั้งนี้การสำรวจจัดทำขึ้น 2 ครั้งในเดือนกันยายน 2565 และเดือนมีนาคม 2566 เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการฟื้นตัว โดยได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการจ้างงานหลังจากที่หลายคนต้องถูกเลิกจ้างในช่วงการแพร่ระบาด

 

โดยผลสำรวจชี้ว่า เกือบร้อยละ 90 ของผู้ให้สัมภาษณ์ในเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่ามีงานทำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79 ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนี้ ร้อยละ 55 ของผู้ให้สัมภาษณ์ยังระบุว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น และเกือบครึ่งระบุว่ารายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนที่มีเด็กมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ  และมักกลับเข้าสู่ระบบการทำงานได้ยากกว่า ส่วนใหญ่เนื่องมาจากภาระการต้องเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยมีแม่และย่าหรือยายเป็นผู้รับภาระดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับพ่อและปู่หรือตา ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4

ยูนิเซฟเผยผลสำรวจหลังโควิด พบครัวเรือนที่มีเด็กฟื้นตัวช้า

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่เราเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของประชากรกลุ่มต่าง ๆ แต่ครัวเรือนที่มีเด็กและครัวเรือนที่ยากจนยังคงฟื้นตัวได้ช้าและเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูเด็ก การทำงาน และราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

"ความท้าทายเหล่านี้ล้วนตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันมาเพิ่มการลงทุนในเด็ก โดยเฉพาะการจัดให้มีบริการเลี้ยงดูเด็กที่มีคุณภาพในราคาเข้าถึงได้  ตลอดจนการขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้แบบถ้วนหน้า รวมถึงการเพิ่มจำนวนเงินเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น"

การสำรวจยังพบอีกว่า การหาบริการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมยังเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ปกครอง ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าไม่ได้ทำงานเนื่องจากต้องเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชนบทซึ่งระบุว่าบริการรับเลี้ยงเด็กมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

ในขณะที่ร้อยละ 5 ของผู้ให้สัมภาษณ์ ระบุว่า บางครั้งต้องทิ้งบุตรหลานอายุ 0-6 ปีไว้ลำพังหรือให้อยู่ในการดูแลของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และอีกร้อยละ 10 บอกว่ามักนำบุตรหลานไปทำงานด้วยเพราะไม่สามารถฝากไว้กับใครได้

แม้ว่าครัวเรือนส่วนใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือทางสังคมจากรัฐบาล แต่ผลสำรวจยังพบแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงด้านเงินเก็บและหนี้ครัวเรือน โดยร้อยละ 70 ระบุว่าครัวเรือนมีเงินเก็บลดลงจาก 6 เดือนที่แล้วหรือไม่มีเงินเก็บเลย

นอกจากนี้ในช่วงเดือนกันยายน 2565 - มีนาคม 2566 การกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 40  ในขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 36 โดยครัวเรือนที่มีเด็กมีแนวโน้มจะมีปัญหาหนี้สินมากกว่า โดยร้อยละ 40 ผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมีนาคม 2566

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบแนวโน้มที่ดีว่าเด็ก ๆ ได้กลับไปเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง โดยในเดือนมีนาคม 2566 ผู้ให้สัมภาษณ์เกือบทั้งหมดระบุว่าบุตรหลานของตนได้กลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 94 ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว และส่วนใหญ่ก็ระบุว่าบุตรหลานไม่มีอุปสรรคในการติดตามบทเรียน

 “เราหวังว่าการสำรวจนี้จะช่วยเติมเต็มความพยายามของรัฐบาลไทยในการทำให้ประเทศฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การกำหนดให้เด็กเป็นประเด็นหลักของวาระแห่งชาติจะช่วยให้เราไม่เพียงแต่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังจะช่วยนำเราไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันได้รวดเร็วขึ้นด้วย”