องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2546 โดยในแต่ละทั่วโลกมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน หรือ 1 คน ในทุก ๆ 40 วินาที
ในปี 2567-2569 – 2026 องค์การอนามัยโลก กำหนดประเด็นการรณงค์ภายใต้หัวข้อ "Changing the narrative on suicide" ที่นำไปสู่การปฏิบัติโดยเริ่มจาก "Start the Conversation" เพื่อส่งเสริมการตระหนักถึงความสำคัญของการลดทอนตราบาปและสนับสนุนการเปิดใจสนทนาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
สำหรับการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2565 มีอัตราสูงที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.97 ต่อ 1 แสนประชากร เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร ขณะที่ล่าสุด ปี 2566 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงมีจำนวนที่สูงอยู่ โดยอยู่ที่ 7.94 ต่อแสนประชากร (จำนวน 5,172 คน)
การฆ่าตัวตายมีสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาทางสุขภาพกายและภาวะเจ็บป่วย รวมถึงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากทั้งต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นถึงความสำคัญต่อการป้องกันการฆ่าตัวตายที่จะต้องเริ่มต้นป้องกันทางด้านสุขภาพจิต จึงได้ร่วมกับ "สายด่วนสุขภาพจิต 1323" ให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยประชาชนสามารถรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ส่วนการให้บริการนั้นเจ้าหน้าที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะทำการสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยืนยันตัวตน เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลข 13 หลัก เป็นต้น
พร้อมรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ซึ่งหากประเมินแล้วว่า เป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจิต จะมีนักจิตวิทยาโทรกลับเพื่อคำปรึกษาเร่งด่วน โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ
ข้อมูล : ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต และ เว็บไซต์ Mahidol University Social Engagement Forum: MUSEF