31 กรกฎาคม 2567 เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด 67 คน เผยแพร่แถลงการณ์ให้สื่อมวลชนประเด็น บทวิเคราะห์ "เปรียบเทียบทางเลือกนโยบายกัญชา: นำหรือไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด" ระบุว่า
ในประเทศไทย กัญชาถูกควบคุมแบบเข้มงวด ด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่ปี 2522 ไม่สามารถใช้กัญชาทั้งเพื่อสันทนาการและเพื่อการแพทย์
ต่อมาให้เริ่มใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้แต่ยังคงห้ามใช้เพื่อสันทนาการ ตั้งแต่ปี 2562 หลังจากนั้นกัญชาถูกควบคุมด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งยังคงห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการแต่ยกเว้นให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้เช่นเดิม
ล่าสุด กัญชา ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ในประเทศไทย แม้แต่เด็ก (แม้ต่อมาประเทศไทยจะมีมาตรการห้ามจำหน่ายกัญชาแก่เด็ก แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามเด็กสูบกัญชาเลย)
นับจนถึงวันนี้ 30 กรกฎาคม 2567 ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะกัญชาเสรี "ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้" เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว แม้เหตุผลของการปลดกัญชาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการก็ตาม แต่ผลกระทบจากการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และการเสพกัญชาของเยาวชน ขณะนี้มีทางเลือกของนโยบายกัญชาสองทางเลือก คือ
ทางเลือกที่ 1: ใช้กฎหมายกัญชาควบคุม โดยไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
สมมติว่าประเทศไทยนำร่างกฎหมายกัญชาเข้าพิจารณาในครึ่งปีหลังของปี 2567 และใช้เวลาสองปีจึงผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะได้กฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ปลายปี 2569 ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะ "ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้" เป็นเวลาถึง 4 ปี ปัญหากัญชาจะเต็มประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2570
ผลกระทบที่ตามมาจะมากมายมหาศาล ประกอบการประมาณการจำนวนผู้ป่วยติดกัญชาและโรคจิตจากกัญชาต่อเดือน ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เมื่อการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดครบสี่ปี (ปี 2569) จะมีผู้ป่วยติดกัญชาที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 95,148 คน และ 21,048 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6 และ 15 เท่า ตามลำดับ และจำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 54,048 คน และ 29,052 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7 และ 29 เท่า ตามลำดับ
กล่าวโดยย่อ "หากปล่อยให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้เป็นเวลา 4 ปี จะมีผู้ป่วยติดกัญชาและผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 6-29 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปลดกัญชาเสรีในปี 2565"
ทางเลือกที่ 2: นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที แล้วเร่งทำกฎหมายกัญชา
ทำเช่นนี้กัญชาจะกลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่ให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้จำนวนผู้ป่วยทั้งสี่กลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นจะลดกลับลงมาสู่สภาวะปกติก่อนปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในปี 2565 แล้วเมื่อกฎหมายกัญชาผ่านสองสภาออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้สภาวะ "ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้" เป็นเวลาเพียง 2 ปี
เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ส. เร่งพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที แล้วเร่งทำกฎหมายกัญชาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหากัญชาเพื่อสันทนาการลุกลามจนไม่อาจแก้ไขได้ในภายหลัง
คลิกอ่านฉบับสมบูรณ์ บทวิเคราะห์ เปรียบเทียบทางเลือกนโยบายกัญชา: นำหรือไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด