"วัณโรคเทียม" ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในธรรมชาติ 

02 ก.ค. 2567 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 17:03 น.

กรมควบคุมโรค เปิดข้อมูลระบุ เชื้อวัณโรคเทียมแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมทั้งดินและน้ำ เสี่ยงคุกคามผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ ชี้ อาการคล้ายวัณโรคจริงแต่ดื้อยา แนะเร่งตรวจคัดกรองเพื่อรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

จากกรณีหมอชื่อดัง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า พบผู้ป่วยหญิงมีอาการไอ มีเสลด เหนื่อย น้ำหนักลง สาเหตุจากการรับเชื้อโรคจากปุ๋ยคอกซึ่งส่งผลให้ติดเชื้อวัณโรค หรือ วัณโรคเทียม นั้น

ล่าสุด กรมควบคุมโรค เผยแพร่เอกสารย้ำเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพตัวเองอย่าให้ร่างกายอ่อนแอจะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคเทียมได้ วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งยังเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกปี 2566 ประมาณการว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 กว่ารายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด เชื้อ Mycobacterium แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 

1.Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์  

2.Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140  สายพันธุ์ เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา*  

3.Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน

กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) หรือที่เรียกว่า วัณโรคเทียม พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้

\"วัณโรคเทียม\" ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในธรรมชาติ 

สำหรับคนที่มีปอดปกติ เมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไปจะไม่ก่อให้เกิดโรคแต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้วหรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค

การติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนังซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรคซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรคจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

อาการผู้ป่วยวัณโรคเทียม

ผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้าย "ผู้ป่วยวัณโรค" เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย

นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

หากสังเกตตัวเองว่า มีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่า ตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422