เตือนภัย ไวรัส RSV ระบาดหนักช่วงหน้าฝน เป็นกันได้ทุกคน

01 ก.ค. 2567 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2567 | 11:46 น.

กรมการแพทย์ เตือนภัยไวรัส RSV เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักระบาดช่วงหน้าหน้าฝน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด  

1 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจสามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่มักพบระบาดในฤดูฝน

ไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผ่านการสัมผัสฝอยละอองจากการไอ จามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งและเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้น ผู้ปกครองควรเน้นย้ำให้บุตรหลานล้างมือบ่อย ๆ 

อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV

มักจะมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดธรรมดา น้ำมูกไหล ไอ จาม มีไข้ แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ ในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงเป็นหลอดลมฝอยอักเสบและปอดบวม ไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว

ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภาวะทุพโภชนาการ ประเทศไทยยังไม่มียารักษาจำเพาะต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ 

การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการ ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น กินได้น้อย มีอาการขาดน้ำอาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือในรายที่มีภาวะพร่องออกซิเจน จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน RSV โดยตรง

ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในลูกน้อยได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในที่สาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกค้างในโพรงจมูก ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ