7 วิชาชีพ ผนึกพลัง ชวนสถานพยาบาล-ร้านยา ใน กทม.ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

02 มิ.ย. 2567 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2567 | 11:07 น.
7.0 k

สปสช. เขต 13 กทม. จัดประชุมใหญ่ ผนึกพลัง 7 วิชาชีพ ชวนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา 7 วิชาชีพทั่ว กทม. สมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ร่วมให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตั้งเป้าเพิ่มจำนวน 3,000 แห่ง

KEY

POINTS

ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ร้านยาใน กทม. มี 3,200 แห่ง เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้ว 810 แห่ง แต่เป้าหมายปีนี้อยากเพิ่มเป็น 2,000 แห่ง สภาเภสัชกรรมจะประชาสัมพันธ์ให้ร้านยาเข้าใจว่า ร้านยาทุกร้านสามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ได้ โดยร้านยาทั่วไปที่ผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้บริการเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและโครงการรับยาใกล้บ้านได้ ส่วนร้านยาที่ได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมว่าเป็นร้านยาคุณภาพ ก็สามารถเข้าร่วมให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ เพิ่มเติมได้อีกด้วย

ประโยชน์ที่ร้านยาจะได้รับคือจะได้ลูกค้าเข้ามารับบริการมากขึ้น และเสริมสร้างบทบาทของเภสัชกรให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ร้านยาบางส่วนอาจจะยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการในตอนนี้ เพราะบางส่วนเคยมีภาพจำเรื่องการจ่ายเงินช้า แต่ปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่า สปสช. สามารถเร่งการจ่ายเงินภายใน 3 วัน

ส่วนประเด็นเรื่องภาษี สภาเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการสอบถามกรมสรรพากรถึงความเป็นไปได้ไม่นำรายได้จากการเข้าร่วมโครงการของ สปสช. มาคำนวนรวมในฐานภาษี เพราะปกติอัตราการจ่ายของ สปสช. ก็ไม่ได้ทำให้มีกำไร หากสามารถยกเว้นในส่วนนี้ได้ จะกระตุ้นให้ร้านยาเข้ามาร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง 30 บาท มากขึ้น

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า กระแสตอบรับของคลินิกทันตกรรมใน กทม. ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว 55 แห่ง และ สปสช. ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 แห่ง แต่จากจำนวนคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมประชุมวันนี้มีประมาณ 110 แห่งแล้ว เมื่อคลินิกกลุ่มนี้เริ่มให้บริการตามโครงการนี้แล้วก็จะเกิดกระแสบอกต่อ และยิ่งสามารถเบิกค่าบริการได้ภายใน 3 วัน ก็ยิ่งทำให้คลินิกทันตกรรมอื่นๆ สนใจเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คลินิกทันตกรรมยังกังวลเล็กน้อยว่าโครงการนี้จะอยู่นานไหม ระยะยาวจะเป็นอย่างไร รวมทั้งยังมีข้อติดขัดในการขึ้นทะเบียนที่มีความยุ่งยากพอสมควร

“ส่วนอัตราการจ่ายค่าบริการนั้น จริงๆ ก็ไม่ได้กำไร อาจขาดทุนด้วยซ้ำ ซึ่งคลินิกทันตกรรมที่ร่วมโครงการเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนมากกว่า ต้องนับถือสปิริตของทันตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้” ทพ.ดร.ธงชัย กล่าว

ขณะที่ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า คลินิกเทคนิคการแพทย์ เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาภายใต้ชื่อ Lab Anywhere แต่ตอนนี้ปรับมาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยในครั้งนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์เข้าร่วมประชุมประมาณ 20 แห่ง ถือเป็นโอกาสสร้างความเข้าใจโครงการ และได้เห็นตัวอย่างจากพื้นที่นำร่องทั้งเฟส 1 และ 2 ว่าเป็นอย่างไร

“ใน กทม. ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนคลินิกเทคนิคการแพทย์อีก 21 แห่ง คิดว่าทำได้ไม่ยาก เราเน้นทำความเข้าใจและชี้ให้เห็นประโยชน์ในการขยายฐานคนไข้ แม้ค่าตอบแทนอาจไม่เยอะ แต่จะทำให้คลินิกเทคนิคการแพทย์มีส่วนร่วมในระบบ และเมื่อคลินิกเทคนิคการแพทย์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็สร้างโอกาสให้ผู้รับบริการกลุ่มอื่นนอกจากสิทธิบัตรทองจะมารับบริการเพิ่มขึ้นด้วย” ทนพ.สมชัย กล่าว

นางลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกพยาบาลใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 13 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มอีก 17 แห่ง ซึ่งหากถามว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ คิดว่าคงต้องให้เวลาคลินิกพยาบาลไปศึกษาขอบเขตการบริการอีกระยะ และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมโครงการคืออัตราจ่ายค่าบริการ ซึ่งขณะนี้อัตราที่ สปสช. จ่ายยังไม่จูงใจ ดังนั้น สปสช. อาจต้องพิจารณาในจุดนี้เพิ่มเติม สำหรับคลินิกพยาบาลใน กทม. ไม่เหมือนต่างจังหวัด ต่างจังหวัดส่วนมากคลินิกพยาบาลจะอยู่ในตำบล และใช้บ้านของตัวเองทำเป็นคลินิก ต้นทุนไม่สูงมาก แต่ใน กทม. มีต้นทุนค่าเช่าที่สูง อีกทั้งคลินิกเวชกรรมก็มีค่อนข้างเยอะ ซึ่งผู้ป่วยมักไปรับบริการที่คลินิกเวชกรรมซึ่งให้บริการได้หลากหลายกว่า ดังนั้นจึงอยากให้ สปสช. พิจารณาทบทวนอัตราจ่ายที่ทำให้ทางคลินิกพยาบาลอยู่ได้

น.ส.จิตรณิญาณ์ ฐิติปัญญรัตน์ ผู้แทนสภาการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการรับบริการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการภาครัฐค่อนข้างสูง และการมีโครงการนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คลินิกแพทย์แผนไทยเข้ามามีส่วนร่วม แต่ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ให้คลินิกแพทย์แผนไทยได้รับทราบข้อมูลอาจจะต้องทำเพิ่ม ซึ่งสภาการแพทย์แผนไทยจะทำหนังสือเชิญชวนไปยังคลินิกแพทย์แผนไทย 300 แห่งใน กทม. เพื่อชี้แจงรายละเอียดการสมัคร ขั้นตอนการเบิกจ่าย บริการที่เบิกค่าใช้จ่ายได้และอัตราการจ่ายว่าเป็นอย่างไร

"จริงๆ แพทย์แผนไทยทำได้ทั้งการตรวจ รักษา จ่ายยาสมุนไพร รวมทั้งหัตถการนวด อบ ประคบ แต่ปัจจุบัน สปสช. ยังให้เบิกได้แค่บริการนวด อบ ประคบ แต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายค่ายาสมุนไพรได้ ซึ่งก็ต้องคุยให้ทางคลินิกที่เข้าร่วมเข้าใจ แต่อีกมุมหนึ่ง การเข้าร่วมให้บริการกับ สปสช. จะทำให้มีประชาขน walk-in เข้ามารับบริการมากขึ้น" น.ส.จิตรณิญาณ์ กล่าว

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) จัดการประชุมเชิญชวนเข้าร่วมสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา สมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านนวัตกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

7 วิชาชีพ  ผนึกพลัง ชวนสถานพยาบาล-ร้านยา ใน กทม.ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

โดยมีตัวแทนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยาจาก 7 วิชาชีพ เข้าร่วมประชุมแบบ on-site ประมาณ 300 คน และแบบ online อีกประมาณ 300 คน

ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเชิญสถานพยาบาลในเขตพื้นที่ กทม. ทั้ง 7 วิชาชีพ มาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ซึ่งปัจจุบันสถานพยาบาลใน กทม. ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประมาณ 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 10% สปสช. ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้3,000 แห่ง ภายในสิ้นนี้ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมออนไลน์ไปแล้ว 3 รอบ และครั้งนี้เป็นการจัดประชุมแบบ on-site และมีแผนการจัดประชุมเชิญชวนหมุนเวียนตามโซนต่างๆ ในกทม.

7 วิชาชีพ  ผนึกพลัง ชวนสถานพยาบาล-ร้านยา ใน กทม.ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

“เท่าที่รับฟังมา สิ่งที่ทำให้สถานพยาบาลเอกชนยังไม่เข้าร่วม เช่น ไม่รู้จักระบบการทำงานของบัตรทอง 30 บาท จึงรู้สึกกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร ขึ้นทะเบียนอย่างไร ต้องเรียนรู้ระบบเบิกจ่าย แต่เราอยากชวนให้มาขึ้นทะเบียนกับ สปสช. มากๆ เมื่อเป็นหน่วยบริการในระบบแล้ว สปสช. จะเป็นผู้จ่ายค่าบริการให้ รวมทั้งปักหมุดให้ประชาชนในพื้นที่ในรับทราบว่าคลินิกของท่านอยู่ที่ไหน ทำให้มีผู้ไปรับบริการเพิ่มมากขึ้น" ทพญ.น้ำเพชร กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า กระแสตอบรับของคลินิกเวชกรรมใน กทม. ยังมีไม่มาก เพราะการขึ้นทะเบียนที่ยุ่งยาก แต่ก็อยากเชิญชวนให้มาร่วมในระบบบัตรทอง 30 บาท เพราะสถานการณ์ของโรงพยาบาลต่างๆ ยังมีความแออัด หากได้คลินิกเวชกรรมมาช่วยดูแลประชาชนในโรคง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ก็จะเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนและลดความแออัดในโรงพยาบาลได้

ปัจจุบันมีคลินิกเวชกรรมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว 157 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอีก 343 แห่ง เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างยาก เพราะแม้หลักการจะดี แต่ก็ต้องบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้สะดวกกับคลินิกเวชกรรมด้วย รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนที่ไม่สูงนัก เมื่อหักภาษีแล้วอาจไม่คุ้มทุน

"แพทยสภาพยายามเผยแพร่ข้อมูลและชวนให้คลินิกเวชกรรมเข้ามาลองดู เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ทำให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก ส่วนคลินิกอาจได้ประโยชน์เป็นตัวเงินไม่มาก แต่จะได้ความสนุกในการทำงาน ได้เจอคนไข้ที่หลากหลาย และช่วยแบ่งเบาภาระลดความแออัดในโรงพยาบาล" ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว